หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี) (ไม่ทราบปีที่เกิด และปีที่ถึงแก่กรรม) 

หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี) (ไม่ทราบปีที่เกิด และปีที่ถึงแก่กรรม) 

หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี)

(ไม่ทราบปีที่เกิด และปีที่ถึงแก่กรรม) 

 

หลวงเสนาะดุริยางค์ เป็นข้าราชการสังกัดกรมพิณพาทย์หลวงสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ จนถึงสมัยปลายรัชกาล (๒๔๔๕) ยังสืบวันเดือนปีเกิด นามบรรพบุรุษ และประวัติครอบครัวของท่านไม่ได้   

ในต้นรัชกาลที่ ๕ นั้น มีผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ “เสนาะดุริยางค์” อยู่แล้วท่านหนึ่ง คือ พระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) เป็นหัวหน้าวงพิณพาทย์หลวง ในต้นรัชกาลที่ ๕  และเคยเป็นครูของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์มาก่อนเมื่อยังทรงพระเยาว์มาก เข้าใจว่าเมื่อพระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) ถึงแก่กรรมแล้ว นายทองดีได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ “เสนาะดุริยางค์” สืบต่อมาจนถึงแก่กรรม ซึ่งแน่ใจว่าท่านจะต้องถึงแก่กรรมก่อนวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๖ เพราะในวันที่กล่าวมานี้ เป็นวันที่ นายแช่ม   สุนทรวาทิน บุตรครูช้อย ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เสนาะดุริยางค์ ต่อมาเป็นคนสุดท้ายแล้วมิได้มีใครรับพระราชทานบรรดาศักดิ์นี้ต่อมาอีกเลยจนถึงสมัยนี้  

ตามประวัติเพลงต่าง ๆ ที่มีผู้รวบรวมไว้หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี) คงจะเป็นครูปี่พาทย์หลวงที่มีฝีมือและชื่อเสียงดีมากคนหนึ่งในยุคนั้นเคยร่วมงานวงพระประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด) เวลามีงานการแสดงของกรมมหรสพของหลวงสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงเชื่อว่า หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี) จะเคยเล่นดนตรีอยู่ในวังบ้านหม้อของพระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ และบ้านของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร) มาก่อนและเชื่อว่าคงมีความรู้ในเพลงการดีมาก เคยร่วมงานกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์แต่งเพลงชื่อ “เต่าเห่เถา” และยังมีเพลงที่ไพเราะมีชื่อเสียงมากอีกเพลงหนึ่งที่ท่านแต่งไว้คือ เพลง “แสนสุดสวาทเถา”  

มีปัญหาเรื่องสกุลของท่านผู้นี้ที่ยังไม่ลงตัวว่าเป็นสกุลใด อาจารย์มนตรี  ตราโมท  ค้นคว้ามาได้ว่านามสกุลของท่านคือ “ทองพิรุฬ” ซึ่งเป็นที่เชื่อถือและใช้กันทั่วไปทุกครั้งที่เขียนชื่อเดิมของท่านผู้นี้อยู่ในวงเล็บ แต่ที่รูปของท่านซึ่งท่านถ่ายใส่เครื่องแบบเต็มยศ ไว้ที่บ้านดนตรี ท่านครูจางวางทั่วพาทยโกศลนั้น เขียนว่า หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี พงษ์ทองดี) เลยไม่ทราบว่าสกุลใดเป็นสกุลที่ถูกต้องจึงขอทิ้งเรื่องนี้ไว้เพื่อศึกษาต่อไป 

 

พูนพิศ อมาตยกุล  

(เรียบเรียงจาก การสัมภาษณ์ อาจารย์มนตรี ตราโมท) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.