พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) (พ.ศ. ๒๔๐๙-๒๔๙๒) 

พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) (พ.ศ. ๒๔๐๙-๒๔๙๒) 

พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน)

(พ.ศ. ๒๔๐๙-๒๔๙๒) 

 

พระยาเสนาะดุริยางค์  เป็นบุตรคนหัวปีของครูช้อย  และนางไผ่  สุนทรวาทิน เกิดเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๐๙ ตรงกับเดือน ๙ ปีขาลที่ตำบลสวนมะลิ ใกล้วัดเทพศิรินทราวาส ได้ฝึกฝนเล่าเรียนวิชาดนตรีจากครูช้อย ผู้เป็นบิดา จนมีความแตกฉาน ต่อมาเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน  กุญชร) ผู้บัญชาการกรมโขนตั้งคณะละครขึ้นที่บ้าน จึงได้ขอตัวมาเป็นนักดนตรีในวงปี่พาทย์ของท่าน ก็ยิ่งทำให้พระยาเสนาะ ฯ มีความเชี่ยวชาญสันทัดในการขับร้องและดุริยางคศิลป์อีกเป็นอันมาก  

พระยาเสนาะฯ เริ่มเข้ารับราชการเมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๒ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนเสนาะดุริยางค์” เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ ในตำแหน่งเจ้ากรมพิณพาทย์หลวง แล้วโปรดเลื่อนเป็น “หลวงเสนาะดุริยางค์” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ในตำแหน่งเดิม ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เลื่อนเป็น “พระเสนาะดุริยางค์” รับราชการในกรมมหรสพหลวง และได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา ด้วยความซื่อตรงต่อหน้าที่ราชการ จงรักภักดีในพระมหากษัตริย์ และความสามารถในดุริยางคศิลป์เป็นที่ยิ่ง ท่านจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาเสนาะดุริยางค์” เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ นับเป็นหนึ่งในสองพระยา พระยาอีกท่าน คือ พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ทางดุริยางค์ไทยของกรุงรัตนโกสินทร์ แม้ภายหลังจะเกษียณอายุราชการแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เรียกเข้ารับราชการต่อไปอีกจนสิ้นรัชกาลจึงได้ออกรับบำนาญ นับได้ว่าเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยยิ่ง  

หน้าที่การงานของพระยาเสนาะ ฯ นั้นมีมาตลอดตั้งแต่เริ่มรับราชการ จนสิ้นอายุขัยดังแบ่งเป็นระยะ ๆ ได้ดังนี้  

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากงานประจำควบคุมฝึกสอนและการบรรเลงในงานพระราชพิธีต่าง ๆ แล้ว ยังโปรดให้เป็นครูสอนดนตรีถวายพระราชวงศ์ฝ่ายใน และเจ้าจอมในพระบรมมหาราชวังเป็นประจำ  

เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์ เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ตั้งมโหรีหญิงวงหลวงขึ้นเป็นวงแรก อยู่ในพระอนุเคราะห์ของพระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฎ และได้ทรงพระราชนิพนธ์กลอนบทละครเรื่องเงาะป่าขึ้น เมื่อทรงจบตอนใดก็โปรดให้เจ้าจอมสดับเชิญพระราชนิพนธ์ตอนนั้นมาให้ท่านพระยาเสนาะฯ บรรจุเพลงร้องและเพลงหน้าพาทย์ แล้วฝึกสอนวงมโหรีฝ่ายในขับร้องและบรรเลงปี่พาทย์ถวายให้ทรงฟังแต่ละตอน เพื่อทรงพระราชวิจารณ์แก้ไข เป็นอย่างนี้จนทรงพระราชนิพนธ์จบเรื่อง  

พระยาเสนาะฯ รับราชการสนองพระยุคลบาทใกล้ชิดตลอดรัชกาล ได้รับพระมหากรุณา พระราชทานรางวัลเป็นพิเศษหลายครั้ง อาทิ ดุมเสี้อพระปรมาภิไธยย่อ จปร. นาฬิกา จปร.  

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาเสนาะฯ ได้รับมอบหมายให้ควบคุมวงพิณพาทย์ของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง ซึ่งมีนักดนตรีส่วนใหญ่เป็นทหารรักษาวัง  

วงพิณพาทย์นี้นับได้ว่ารวบรวมผู้มีฝีมือ ซึ่งต่อมาได้เป็นครูผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นที่รู้จักนับถือโดยทั่วไปในวงการดุริยางคศิลป์ เช่น ครูเทียบ คงลายทอง ครูพริ้ง ดนตรีรส ครูสอน วงฆ้อง ครูมิ ทรัพย์เย็น ครูแสวง โสภา ครูผิว ใบไม้ ครูทรัพย์ นุตสถิตย์ ครูอรุณ กอนกุล ครูเชื้อ นักร้อง และครูทองสุข คำศิริ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น คงศักดิ์ คำศิริ) เป็นต้น  

ในราวปลายรัชกาลที่ ๖ พระยาเสนาะ ฯ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ฝึกสอนควบคุมวงมโหรีหญิงซึ่งมีนางพระกำนัลเป็นนักดนตรี ครั้นเมื่อพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ใกล้จะครบกำหนดมีพระประสูติกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เนื้อร้องเพลงปลาทองเตรียมไว้สมโภชพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ จึงโปรดให้พระยาเสนาะ ฝึกมโหรีหญิงวงนี้ไว้บรรเลงถวายเมื่อมีพระประสูติกาล  

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาเสนาะ ฯ ยังได้สนองพระกรุณาธิคุณฝึกซ้อมมโหรีหญิงที่ตำหนักพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ในวังสุนันทาลัย และบรรเลงถวายทุกคืนวันพุธ ตราบจนเสด็จพระราชดำเนินสู่ประเทศอังกฤษ  

นอกจากนี้พระยาเสนาะ ฯ ยังได้รับเชิญเป็นครูของบ้านปี่พาทย์สำคัญ ๒ ตระกูล คือตระกูลดุริยพันธุ์และตระกูลดุริยประณีต มาเป็นเวลาช้านาน ท่านจึงได้นำนายหน่วงและนายเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ สองพี่น้องซึ่งเป็นศิษย์ฝีมือเยี่ยมเข้ารับราชการ ในวงปี่พาทย์หลวงในรัชกาลที่ ๗ อีกด้วย  

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อกรมศิลปากรบันทึกโน้ตเพลงไทยในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ก็ได้เชิญพระยาเสนาะฯ เป็นผู้บอกเพลงและท่านได้เป็นกรรมการของราชบัณฑิตยสถานอยู่จนตลอดชีวิต  

พระยาเสนาะฯ เป็นนักดนตรีที่มีฝีมือเป็นเลิศถึงที่สุด ทั้งทางเครื่องและทางขับร้อง โดยจะสังเกตได้จากบรรดาศิษย์ทั้งหลายของท่าน ซึ่งในระยะต่อมาได้กลายเป็นเอตทัคคะในแต่ละแขนงของดุริยางคศาสตร์ จนเป็นที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป ทั้งนี้เป็นผลมาจากฉันทะวิริยะของท่านพระยาเสนาะฯ ที่ได้พร่ำสอนอบรมด้วยความละเมียดละไม รวมทั้งเต็มเปี่ยมในความรู้แจ้งเห็นจริงโดยแท้ อนึ่ง อัจฉริยภาพส่วนตัวของพระยาเสนาะ ฯ ก็มีหลายประการ ครูมิ ทรัพย์เย็น ศิษย์ใกล้ชิดผู้หนึ่งของท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า พระยาเสนาะ ฯ มีโสตประสาทแม่นยำยิ่งนัก แม้ได้ยินเสียงเคาะระนาดเพียงครั้งเดียว ท่านก็สามารถบอกได้ถูกต้องว่าเป็นลูกที่เท่าไร เพลงการทั้งหลายนั้นท่านได้ยินเพียงครั้งเดียวก็จำได้ไม่ขาดตกบกพร่อง ครูสอน วงฆ้อง เล่าว่า เมื่อเด็ก ท่านเล่นปลากัดอยู่ใต้ถุนเรือน ในขณะที่นักดนตรีอื่น ๆ กำลังเรียนดนตรีกับครูช้อย สุนทรวาทิน ผู้บิดาอยู่บนบ้าน ท่านกลับจำเพลงที่พ่อกำลังต่อให้แก่นักดนตรีเหล่านั้นได้ก่อนเสียอีก จริยาวัตรของพระยาเสนาะ ฯ ก็เต็มไปด้วยความเมตตากรุณาโอบอ้อมอารียิ่งนัก ครูสอนเล่าว่า ท่านมักจะกล่าวแก่ศิษย์เป็นเนือง ๆ ว่า ยามขัดสนไม่จำเป็นต้องลำบากไปงานปลีก ให้มาเอาสตางค์ที่ท่านได้เสมอ  

นอกจากความสามารถในทางปี่พาทย์แล้ว ครูมิ ทรัพย์เย็น เคยพูดถึงว่า ครั้งหนึ่งมีการบรรเลงซ้อมเป็นการลำลองในหมู่พนักงานดนตรีของหลวงแห่งหนึ่ง ท่านพระยาเสนาะ ฯ ผ่านมาพอดีนึกสนุกจึงนั่งลงดีดจะเข้ด้วยนิ้วเปล่ามิได้ใช้ไม้ดีดกระแสเสียงนั้นกังวานและไหวจัดจนคนระนาดวางไม้ก้มลงกราบด้วยความเสื่อมใส  

ผลงานทางดนตรีของท่านนั้นเป็นแนวอนุรักษ์นิยม ท่านพร่ำสอนแก่บรรดาศิษย์ทั้งหลายเสมอว่า เรียนรู้รักษาของเก่าให้หมดสิ้นก่อนเถิดจึงค่อยแต่งของใหม่ ตลอดชีวิตของท่านจึงมิได้แต่งเพลงใด ๆ ขึ้นใหม่ นอกจากทางเดี่ยวของเครื่องมือต่าง ๆ และการเรียบเรียงตับมอญกละ นอกจากนี้แล้วเป็นการปรับปรุงรักษาทั้งสิ้น กล่าวได้ว่าท่านเป็นคนแรกที่ปรับปรุงการขับร้องของสยามประเทศให้ละเมียดละไม นุ่มนวลจะแจ้ง มีชีวิตจิตใจ และไพเราะต้องหูผู้ฟังโดยทั่วไป สมเป็นศิลปะการดนตรีชั้นสูงต่างจากการขับร้องที่มีมาแต่เดิม หลักฐานนี้จะเห็นได้จากความสำเร็จของครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ ผู้เป็นศิษย์ และอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน ผู้บุตรี ได้อย่างชัดเจน  

ในด้านชีวิตครอบครัว ท่านมีบุตรธิดาทั้งสิ้น ๗ คน ดังนี้   

เกิดแต่นางทรัพย์ (ก่อนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์) ๒ คน คือ   

๑. หญิง ชื่อ ช้า   

๒. ชาย ชื่อ เชื่อง  

เกิดแต่คุณหญิงเสนาะดุริยางค์ (เรือน) ๕ คน คือ  

๑. หญิง ชื่อ เรียบ   

๒. ชาย ถึงแก่กรรมเมื่อยังเยาว์   

๓. หญิง ชื่อ เลื่อน   

๔. ชาย ชื่อ เชื้อ   

๕. หญิง ชื่อ เจริญใจ  

พระยาเสนาะ ฯ เกิดมาเพื่อดนตรี อยู่กับดนตรี และสิ้นชีวิตลงด้วยความรักใคร่ห่วงใยในดนตรียิ่งนัก ครูสอน วงฆ้อง เล่าว่า เมื่อท่านป่วยด้วยโรคมะเร็ง ก่อนจะสิ้นลมยังเรียกครูสอนเข้าไปหาและพยายามร้องทำนองเชิดฝรั่ง เพื่อให้ครูสอนจดจำไว้ให้ได้ จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ณ บ้านเลขที่ ๑๕๖๑ หน้าโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จังหวัดธนบุรี สิริอายุได้ ๘๓ ปี 

 

พิชิต ชัยเสรี 

(เรียบเรียงจาก บทความเรื่อง พระยาเสนาะดุริยางค์ ของคุณหญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา คำบอกเล่าของอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน คำบอกเล่าของ ครูสอน วงฆ้อง และคำบอกเล่าของ ครูมิ ทรัพย์เย็น) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.