สุมิตรา สุจริตกุล (พ.ศ. ๒๔๕๐-๒๕๒๙)

สุมิตรา สุจริตกุล (พ.ศ. ๒๔๕๐-๒๕๒๙)

สุมิตรา สุจริตกุล

(พ.ศ. ๒๔๕๐-๒๕๒๙) 

 

นางสุมิตรา สุจริตกุล เกิดเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๐ ณ บ้านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างวัดระฆังโฆษิตารามกับโรงพยาบาลศิริราช (ปัจจุบัน คือ บริษัทเรือข้ามฟากของคุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ) เป็นบุตรของพระยาราชมนตรี (สง่า สิงหลกะ) กับเจ้าบุญปั่น สิงหลกะ เมื่ออายุได้ ๙ ปี เข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ได้เริ่มเรียนเปียโนเพลงฝรั่งจากมาดามมากาเร็ต เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี ก็ได้ไปเรียนเปียโนเพลงไทยจากเจ้าบัวชุ่ม ณ เชียงใหม่ ซึ่งเป็นญาติกับมารดาจนสามารถดีดเพลงนกขมิ้น ๓ ชั้น เพลงปลาทอง ๓ ชั้น และเพลงลาวแพนได้  

เนื่องด้วยพระยาราชมนตรีผู้บิดา เป็นข้าราชบริพารรับใช้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และใกล้ชิดกับพระสุจริตสุดา พระสนมเอก จึงได้พาบุตรี คือ นางสุมิตรามาถวายตัวต่อรัชกาลที่ ๖ และอยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระสุจริตสุดา ขณะนั้นอายุได้ ๑๖ ปี ได้เริ่มเล่นเปียนโนถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่นั้นมา และมักจะเล่นถวายหลังจากที่เสวยพระกระยาหารค่ำแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแนะนำการเล่นเปียโนว่า ควรจะเล่นโดยใช้มือขวาเล่นทำนองหลัก (Melody) มือซ้ายเล่นประสานเสียง ทำให้เสียงตกเป็นคู่ ๔ บ้าง คู่ ๖ บ้าง เหมือนการตีระนาดทุ้ม จะทำให้ฟังไพเราะอย่างเพลงไทย พระสุจริตสุดา จึงได้หาครูมาสอนเพิ่มเติมให้หลายคน คือ พระยาสาครสงคราม (สุริเยศ อมาตยกุล) สอนวิธีเล่นประสานเสียง แหม่มต่างประเทศสอนการใช้นิ้วกดคีย์เปียโนที่ยาก ๆ หลวงชาญเชิงระนาดบอกเพลงกระแต พระสรรเพลงสรง ต่อเพลงพญาโศก โดยดีดจะเข้ให้ดีดเปียโนตาม และจางวางทั่ง พาทยโกศล เป่าปี่เพลงกราวในให้ดีดเปียโนตามเทคนิคต่าง ๆ ในการใช้นิ้วดีดเปียโนนั้นท่านคิดปรับปรุงเองตลอดมา  

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสร็จสวรรคต ท่านยังอยู่ในพระอุปการะของพระสุจริตสุดา จน พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้ตั้งวงดนตรีหญิงชื่อ วงดนตรีนารีศรีสุมิตร ได้อัดแผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ เพลงตับในเรื่องวิวาหพระสมุทร คือ เพลงโยนดาบ จีนหน้าเรือ สามเส้า ปี่แก้วน้อย ตะนาวแปลง เพลงจากเรื่องพระยาราชวังสัน คือ เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง และเพลงพญาโศก การบันทึแผ่นเสียงครั้งนี้เป็นการบรรเลงเครื่องสายผสมเปียโน และเดี่ยวเปียโนเพลงพญาโศก นับเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกแผ่นเสียงเพลงพญาโศกด้วยการเดี่ยวเปียโน  

พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้สมรสกับ นายสุทัศน์ สุจริตกุล มหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและเป็นที่ นายฉันท์หุ้มแพร ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีบุตรธิดาด้วยกัรวม ๗ คน เมื่อสามีถึงแก่กรรมแล้ว ท่านก็เลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยการมีอาชีพเป็นครูสอนเปียโนที่บ้านในซอยสายลม ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร จนบุตรธิดาของท่านสำเร็จการศึกษาอย่างดทุกคน นับเป็นครูผู้เผยแพร่วิชาการดนตรีไทยที่ดีเยี่ยมผู้หนึ่ง ท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ รวมอายุได้ ๗๙ ปี 

 

วชิราภรณ์ วรรณดี 

(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.