กระจ่าง ทองเชื้อ (พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๕๐๕)

กระจ่าง ทองเชื้อ (พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๕๐๕)

กระจ่าง ทองเชื้อ

(พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๕๐๕)

นายกระจ่าง ทองเชื้อ เป็นบุตรของนายฟัก นางเทียบ ทองเชื้อ เกิดที่บ้านริมคลองแสนแสบ ทุ่งนาบางกะปิ เขตพระโขนง ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตรงกับปีฉลู พ.ศ. ๒๔๔๔ บิดาเป็นนักดนตรีและเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งปัจจุบันคือ สถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร นายฟักผู้บิดานั้น นอกจากมีอาชีพเป็นชาวนาแล้ว ยังเป็นหัวหน้าวงปี่พาทย์ รับงานในเขตทุ่งบางกะปิทั้งหมด นายกระจ่างจึงเป็นนักดนตรีมาแต่เล็ก โดยเริ่มเรียนกับบิดาก่อนแล้วต่อมาจึงเรียนกับครูจวง

เมื่อนายกระจ่างโตขึ้น บิดาได้นำไปฝากให้เป็นศิษย์ของท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ได้เรียนดนตรีกับท่านครูทองดี ชูสัตย์ เมื่อมีความสามารถแล้ว ได้เข้ารับราชการเป็นทหารแตรประจำวงโยธวาทิต กองทัพเรือ อยู่ในความควบคุมของท่านครูจางวางทั่ว และครูสุทธิ์ ศรีชยา (ต่อมาเป็น พ.ต.หลวงประสานดุริยางค์) รับราชการเป็นทหารแตรวง จนได้เป็น จ่า เรียกกันว่า จ่ากระจ่าง ทองเชื้อ ระหว่างนั้นได้เป็นหัวหน้าวงดนตรีไทยของบ้านเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) อยู่ระยะหนึ่ง โดยไปอยู่กินที่บ้านท่านเจ้าคุณที่ศาลาแดงเป็นประจำ

นายกระจ่าง เป็นญาติสนิทกับครอบครัวมาลัยมาลย์ จึงเป็นญาติสนิทกับครูเจียน ครูยิบ และครูสาลี่ มาลัยมาลย์ ซึ่งทั้ง ๓ คน ก็เป็นศิษย์ท่านครูจางวางทั่วด้วย ได้ร่วมเล่นดนตรีด้วยกันตลอดมา หลังออกจากทหารเรือแล้ว ได้ย้ายบ้านไปอยู่ปากคลองบางกะปิ สร้างบ้านใหญ่โต มีศิษย์มาสมัครเรียนดนตรีอยู่ด้วยเป็นอันมาก จนถึงต้องหุงข้าวเลี้ยงด้วยกระทะใบบัว และออกรับงานดนตรีทั่วไป ในย่านคลองบางกะปิ สมุทรปราการ ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ศิษย์ที่มาเรียนมีทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัดใกล้เคียง อาทิ นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง นนทบุรี และสมุทรปราการ นับเป็นบ้านครูดนตรีที่ใหญ่โต และมีชื่อเสียงในย่านชานเมืองหลวงยุคนั้น

ในด้านความสามารถ มีความรู้เล่นปี่พาทย์ได้รอบวง ชำนาญเครื่องดนตรีทุกประเภท สอนศิษย์ช้า ๆ อย่างใจเย็น และได้ชื่อว่าเป็นครูที่ใจดีไม่ดุ เป็นคนอนุรักษ์นิยม โดยมีความเห็นว่า  ควรจะยึดถือแนวทางโบราณในการบรรเลงเพลง และนิยมเล่นเพลงเก่า ๆ มากกว่าเพลงใหม่ ๆ จึงไม่นิยมแต่งเพลงใหม่ ๆ ขึ้นเลย

ชีวิตครอบครัว แต่งงานกับ นางสาวสังวาลย์ มีบุตร ๗ คน ชายสองคนแรกชื่อจำนงค์และจำเนียร ทองเชื้อ มีฝีมือในทางดนตรีทั้งคู่ หญิง ๕ คนชื่อ ฉันทนา สายหยุด บุญชู มะลิ และซ่อนกลิ่น มีบุตรีชื่อ บุญชู คนเดียวที่เป็นดนตรี โดยบิดาสอนเอง จนมีควาามสามารถตีระนาด ฆ้อง เครื่องหนัง และขับร้องได้ดีมาก ปัจจุบันคือ คุณบุญชู ทองเชื้อ (รอดประสิทธิ์) แห่งฝ่ายสันทนาการ กรุงเทพมหานคร

นายกระจ่างมีพี่สาวแท้ ๆ ชื่อ แจ่ม นางแจ่ม ได้แต่งงานกับ ครูชม้อย พักตร์ผ่อง ครูเครื่องหนัง ผู้ลือชื่อทั้งในด้านฝีมือการตีกลอง และในด้านการประดิษฐ์คิดทำกลองประเภทต่าง ๆ มีชื่อเสียงมากว่ากลองบ้านนี้ เป็นกลองชั้นดีเยี่ยม

นายกระจ่าง เริ่มป่วยด้วยโรคหัวใจเหนื่อยง่าย แล้วกลายเป็นอัมพาต จึงเลิกงานปี่พาทย์ อยู่กับบ้านเฉย ๆ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ อายุได้ ๖๑ ปี

ปัจจุบันลูกของครูกระจ่างยังยึดอาชีพนักดนตรีไทยอยู่เพียง ๒ คน คือบุตรชายใหญ่ ชื่อจำนงค์ และคุณบุญชู ทองเชื้อ

 

พูนพิศ อมาตยกุล

(เรียบเรียง การให้สัมภาษณ์ของคุณบุญชู ทองเชื้อ)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.