พระสุจริตสุดา พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๖ (พ.ศ.๒๕๓๘-๒๕๒๕) 

พระสุจริตสุดา พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๖ (พ.ศ.๒๕๓๘-๒๕๒๕) 

พระสุจริตสุดา พระสนมเอกในรัชกาลที่  

(พ.ศ.๒๕๓๘๒๕๒๕) 

 

พระสุจริตสุดา มีนามเดิมว่า เปรื่อง สุจริตกุล เกิดเมื่อวันพุธ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๓๘ ที่บ้านปากคลองด่าน ใกล้ประตูน้ำภาษีเจริญ เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) และท่านผู้หญิงสุธรรมนตรี (ไล้ สุจริตกุล) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๑ คน น้องสาวของท่านมีนามว่า ประไพ สุจริตกุล ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจีพระวรราชชายา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว   

ท่านบิดาได้นำตัวพระสุจริตกุล เข้าเฝ้าถวายตัวแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเก้ลาเจ้าอยู่หัวได้รับราชการในตำแหน่งพระสนมเอกซึ่งท่านเล่าว่า ท่านเป็นสุภาพสตรีสามัญชนคนแรกที่ได้เข้าพิธีเศกสมรสโดยมีการพระราชทานน้ำสังข์เป็นทางการ โดยพระกรุณาของสมเด็จพระศรีสวรินทรา พระบามราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่าเป็นการแต่งงานที่ถูกต้องตามธรรมเนียมประเพณีไทย ซึ่งท่านมีความภาคภูมิใจมาก   

ประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๔  พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงโขนสมัครเล่น โดยทางพากย์โขนและเจรจาด้วยพระองค์เองมีพระสุจริตสุดาและพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี เป็นต้นเสียงขับร้อง ต่อมาได้แสดงละครเรื่องวิวาห์พระสมุทรอีก ซึ่งอาจารย์มนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยแห่งกองการสังคีต กรมศิลปากร เล่าว่า ละครเรื่องนี้ ได้เล่นกันต่อมาอีกหลายครั้ง แต่ครั้งที่แสดงได้ดีที่สุด คือ ครั้งที่พระสุจริตสุดาและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแสดงร่วมกัน 

เมื่อครั้งที่ท่านอยู่ในสวนดุสิต ราว พ.ศ. ๒๔๖๕ นั้น ท่านอุปการะเด็กหญิงวัยรุ่น อายุประมาณ ๘ ปี-๑๕ ปีไว้หลายคน ได้หาครูดนครีไทยมาสอน รวม ๓ ท่าน คือ หลวงว่องจะเข้รับ (โต กมลวาทิน) พระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน) และครูชุ่ม กมลวาทิน ผู้ที่ได้เรียนในรุ่นนี้มีอาทิ คุณทองสุข สุรพินทุ คุณศรีสะอาด แก้วโกเมน ครูทองดี สุจริิตกุล ครูฉลวย จินยะจันทน์ ครูนิภา อภัยวงศ์ คุณเฉลย รัตนจันทร์ และคุณแฉล้ม สุวรรณเกตุ   

พระสุจริตสุดา ได้ตั้งวงเครื่องสายผสมเปียโนขึ้น โดยมีผู้ร้องและผู้บรรเลงเป็นหญิงล้วน มีคุณสุมิตรา สุจริตกุล (สกุลเดิม สิงหลกะ) เป็นผู้ดีดเปียโนเป็นวงเครื่องสายผสมที่มีชื่อเสียงมาก ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๕-พ.ศ. ๒๔๘๐ วงเครื่องสายวงนี้ ได้บรรเลงถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นประจำในเวลาเสวยพระกระยาหารค่ำ ณ พระราชวังพญาไท  

ราว พ.ศ. ๒๔๗๓ พระสุจริตสุดา ได้แต่งเพลงเถาขึ้นเพลงหนึ่ง ให้ชื่อว่าเพลงสุดาสวรรค์เถา ต่อมาได้มีการบันทึกแผ่นเสียงวงดนตรีเครื่องสายผสมของท่าน ในราว พ.ศ.๒๔๗๖ ท่านจึงให้ใช้ชื่อว่าดนตรีว่า “คณะนารีศรีสุมิตร” ใช้ตรากรอบพักตร์สีทอง พิมพ์บนกระดาษสีน้ำเงินเข้มเพลงที่บันทึกส่วนใหญ่เป็นเพลงในเรื่องวิวาห์พระสมุทรซึ่งขายดีมาก หลังจากนี้อีกไม่นานนักพระสุจริตสุดาก็ย้ายออกจากพระราชวังสวนดุสิตไปสร้างบ้านอยู่ที่ถนนพระราม ๕ ซึ่งปัจจุบันบ้านของท่านเป็นที่ทำการของทหารบก วงเครื่องสายคณะนารีศรีสุมิตรของท่านจึงเหินห่างการแสดง แล้วจึงเลิกไปในที่สุด นักดนตรีคณะนี้หลายท่านยังเป็นครูสอนดนตรีไทยต่อมาจนถึงทุกวันนี้ อาทิ ครูทองดี สุจริตกุล ครูนิภา อภัยวงศ์ และครูฉลวย จิยะจันทน์ เป็นต้น  

พระสุจริตสุดา ถึงแก่กรรมเมื่อวันอังคารที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ รวมอายุได้ ๘๖ ปี 

 

จรวยพร สุเนตรวรกุล

(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของนายแพทย์ พูนพิศ อมาตยกุล ในสยามรัฐรายวัน ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๕ และคำบอกเล่าของ ครูนิภา อภัยวงศ์) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.