สิน สินธุนาคร (พ.ศ.๒๓๗๕-๒๔๕๗) 

 สิน สินธุนาคร (พ.ศ.๒๓๗๕-๒๔๕๗) 

 สิน สินธุนาคร

(พ.ศ.๒๓๗๕-๒๔๕๗) 

 

นายสิน เป็นนักดนตรีสืบเชี้อสายมาจากคณะดนตรี และคณะละครตำบลบ้านขมิ้น แขวงคลองบางกอกน้อย และวัดระฆังโฆษิตาราม  บิดา ชื่อ เมือง นามมารดาไม่ปรากฎ เกิดในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย ชีวิตในวัยเด็กจะเป็นศิษย์ของผู้ใดยังค้นไม่ได้ ทราบแต่ว่าชำนาญเพลงการประกอบการแสดงโขนละครมาแต่เล็ก เพราะญาติพี่น้องมีอาชีพละครสืบกันมานาน 

สืบประวัติได้เพียงว่า เมื่อเป็นหนุ่มต้องไปเข้าประจำการที่วังกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ คือวังบ้านหม้อ ก่อนที่เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์จะได้รับราชการเป็นเจ้ากรมมหรสพในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ในระยะแรก นายสินทำหน้าที่เป็นนักระนาดคนสำคัญอยู่แล้ว เนื่องจากมีความรู้เพลงประกอบโขนละครเพลงขับร้องรวมทั้งตีกรับขับเสภาได้ดี จึงรับหน้าที่เป็นครูฝึกซ้อมรับร้องให้แก่ หม่อมเนย หม่อมจันทร์ หม่อมเจริญ และหม่อมมาลัย มาตั้งแต่ท่านทั้ง ๔ นี้ยังเป็นเด็ก และยังมิได้เป็นหม่อมของเจ้าพระยาเทเวศน์ จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๖ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเข้ามาร่วมงานกับเจ้าพระเทเวศร์ ฯ จัดละครดึกดำบรรพ์ คอนเสิร์ต และการแสดงต่าง ๆ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้รวบรวมนักดนตรีจากกรมพิณพาทย์หลวงเข้ามาช่วยงานด้วย ครั้งนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ได้ทรงนำพระประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด) ครูของท่านเข้ามาช่วยบอกเพลงหน้าพาทย์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นและได้นายแช่ม สุนทรวาทิน (ก่อนเป็นขุนเสนาะดุริยางค์) มาช่วยตีระนาดเอก ได้นายเกษ นายต่วม เข้าร่วมวงด้วย ต่อมาจึงได้ต่อเพลงให้กับนักดนตรีอื่น ๆ ที่เข้ามาประจำรุ่นหลัง อาทิ นายศุข ดุริยประณีต พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต) ฯลฯ  

ราว พ.ศ. ๒๔๔๘ ครูสิน มีอายุประมาณ ๗๐ ปี เข้าสู่วัยชราแล้ว จึงได้ส่งบุตรชายชื่อ นายเถา สินธุนาคร ซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ประมาณ ๑๒ ปี ไปประจำที่บ้านเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ แทนตัว (นายเถานี้ ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ขุนสมานเสียงประจักษ์) ส่วนตัวท่านกลับมาพักผ่อนอยู่ที่บ้าน ตำบลบ้านขมิ้น  

ประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๐ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (พระยศขณะนั้น) มีพระประสงค์จะจัดตั้งวงดนตรีส่วนพระองค์ขี้น จึงทรงพระกรุณาให้ นายสิน เข้าไปอยู่ในวังของท่านที่นางเลิ้ง โปรดนายสินมาก จึงให้ขึ้นไปอยู่บนตำหนัก ทรงเอาพระทัยใส่ ดูแล ด้วยทรงเห็นว่า เป็นครูผู้ชราแต่มีความรู้มาก นายสินจึงอยู่ในวังกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์มาจนถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๕๗ อายุได้ ๘๐ ปีเศษ  

ในขณะที่นายสินอยู่ในวังกรมหลวงชุมพรฯ นั้น ได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวงดนตรีนำวงออกประชันกับวงอื่น ๆ อยู่เสมอ อาทิ ประชันกับวงวังบูรพาภิรมย์ ประชันกับวงของกรมพระนครสวรรค์วรพินิต (สมัยนั้นยังใช้วงของตระกูลนิลวงศ์อยู่) ประชันกับวงของกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม วงของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เป็นต้น และเป็นต้นคิดยืดเพลงต่าง ๆ ขึ้นเป็นเพลงสามชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเถา เพื่อบรรเลงประลองฝีมือระหว่างวง เป็นที่น่าเสียดายว่า ทางเพลงของท่านที่ได้เคยทำไว้สูญหายไปหมด เมื่อกรมหลวงชุมพรฯ ทรงเลิกวงปี่พาทย์ นักดนตรีก็กระจัดกระจายกันไปหมด  

ด้านชีวิตครอบครัวของท่านนั้น นายสิน มีภรรยา ๓ คน คนแรกชื่อ แสง มีบุตร ชื่อ พร้อม เป็นนักดนตรีสังกัดวงวังบูรพาภิรมย์ ภรรยาคนที่ ๒ ชื่อ คร้าม มีบุตรชื่อ เฮ้า เป็นคนฆ้องประจำวงดนตรี เจ้าพระยาเทเวศร์ฯ ภรรยาคนที่ ๓ ชื่อ มี มีบุตรีคนแรกชื่อทรัพย์ เป็นขับร้อง ตีกรับขับเสภาได้ดีมาก บุตรคนที่ ๒ ชื่อ เถา คือ ขุนสมานเสียงประจักษ์ เป็นนักดนตรี สามารถบรรเลงได้รอบวง และคนสุดท้องเป็นชายชื่อ วงศ์์ 

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของ ขุนสมานเสียงประจักษ์-เถา สินธุนาคร) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.