หลวงสิทธิวาทิน (สาย อังศุวาทิน) (พ.ศ. ๒๔๑๕-๒๔๙๗) 

หลวงสิทธิวาทิน (สาย อังศุวาทิน) (พ.ศ. ๒๔๑๕-๒๔๙๗) 

หลวงสิทธิวาทิน (สาย อังศุวาทิน)

(พ.ศ. ๒๔๑๕-๒๔๙๗) 

 

หลวงสิทธิวาทิน (สาย อังศุวาทิน) เป็นบุตร ขุนสรนิตยาคม (แสง) เนติบัณฑิต และนางนิ่ม เกิดเมื่อวันพุธ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๑๕ เรียนหนังสือกับบิดาที่บ้านจนอายุ ๑๑ ปี เข้ารับราชการในกระทรวงวังตั้งแต่เมื่อใดยังค้นหลักฐานไม่ได้ ทราบแต่ว่ามีหน้าที่อยู่ในกรมกองแขก ตลอดมาจนอายุได้ ๓๑ ปี (พ.ศ.๒๔๔๖) จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนฉลาดกลองชวา รับพระราชทานเบี้ยหวัด ปีละ ๘๐ บาท ในตำแหน่งเจ้ากรมกลองแขก  

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์แล้ว ๒ ปี ได้ย้ายมาสังกัดเป็นมหาดเล็กพิเศษกรมโยธา แผนกพิณพาทย์ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗  

ปี พ.ศ. ๒๔๕๖ โปรดเกล้าฯ ให้เป็น ขุนฉลาดกลองชวา ในตำแหน่งรองหุ้มแพร เงินเดือนเดือนละ ๖๐ บาท แล้วเลื่อนเป็น หลวงฉลาดกลองชวา ในวันที่ ๒โ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ แล้วย้ายมาอยู่กรมพิณพาทย์หลวง กรมมหรสพ ในปีรุ่งขึ้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนราชทินนามเป็น หลวงสิทธิวาทิน เมื่อวันที่ ๒๙  ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เลื่อนตำแหน่งเป็นหุ้มแพร  ในปี พ.ศ. ๒๔๖๕  รับราชการในกรมพิณพาทย์หลวงตลอดมาจนสิ้นรัชกาล 

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้มีการยุบเลิกตำแหน่งราชการ (ดุลย์) ออกจากราชการ รับพระราชทานบำนาญ เดือนละ ๒๗ บาท ๔๐ สตางค์ ขณะนั้นมาอายุ ๕๔ ปี  

หลวงสิทธิวาทิน ทำหน้าที่บรรเลงปี่พาทย์ได้หลายอย่าง และที่ถนัด คือ กลองแขก มีฝีมือพอสมควร ไม่ถึงกับเด่นมาก แต่งงานหลายครั้งและหย่าร้างก่อนแต่งงานใหม่ทุกครั้ง มีบุตรหลายคน บุตรีชื่อ แส และสร้อย มีนางเนย เป็นมารดา บุตรีชื่อ นวม น้อม และบุตรชายชื่อ เยี่ยม มีนางละม้ายเป็นมารดา บุตรีชื่อสังวาลย์ มีนางถมเป็นมารดา และคนสุดท้ายเป็นชายชื่อ สมัคร มีนางทองอยู่เป็นมารดา ไม่มีบุตรคนใดเป็นนักดนตร 

หลวงสิทธิวาทิน ถึงแก่กรรมด้วยโรคอัมพาตในวัยชรา เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗ รวมอายุได้ ๘๒ ปี 

 

พูนพิศ อมาตยกุล  

(เรียบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติ กรมมหรสพ สำนักพระราชวัง) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.