สาลี่ มาลัยมาลย์ (พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๕๑๗) 

สาลี่ มาลัยมาลย์ (พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๕๑๗) 

สาลี่ มาลัยมาลย์ 

(พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๕๑๗) 

 

ครูสาลี่ มาลัยมาลย์ นักดนตรีฝีมือดีของ”วงฝั่งขะโน้น” เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับ ครูเทียบ คงลายทอง และครูทรัพย์ เซ็นพานิช เป็นบุตรของ นายชั้น และนางเชียม  มาลัยมาลย์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๖ คน มีน้องชายเป็นนักดนตรีไทยที่มีฝีมือดีอีกคนหนึ่ง คือ นายเจียน หรือ กมล มาลัยมาลย์  

บิดาของครูสาลี่ ทำหน้าที่เป็นคนตีฆ้อง อยู่ในวงดนตรีไทยวังบางขุนพรหม มารดาเป็นนักร้องเพลงฉ่อย ครูสาลี่จึงได้เริ่มเรียนปี่พาทย์จากบิดาที่บ้านตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานครสวรรค์วรพินิต ทรงเห็นว่าฝีมือใช้ได้ จึงโปรดฯ ให้นำตัวมาฝากเป็นศิษย์ของครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ที่บ้านหลังวัดกัลยาณมิตร ได้เรียนวิชาดนตรีหลายอย่าง ตั้งแต่ฆ้องวงใหญ่ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ตลอดจนกระทั่งเป่าปี่ได้ดี  

ครูสาลี่เป็นคนมีฝีมือมาก เคยตีฆ้องเล็กประชันวงเมื่อคราวประชันปี่พาทย์ที่วังบางขุนพรหม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ครูทำหน้าที่เป็นนักดนตรีประจำวงของครูจางวางทั่ว พาทยโกศล อยู่นานประมาณ ๑๐ ปี เมื่ออายุได้ประมาณ ๒๕ ปี ก็ออกจากบ้านครูจางวางทั่ว ไปตั้งวงดนตรีของตนเองอยู่แถวตำบลหัวตะเข้ จังหวัดสมุทรปราการ และได้สมรสกับนางลูกอิน มีบุตรธิดาด้วยกัน ๔ คน ชื่อ ประเจียด สนิท ระเบียบ และมานิตย์ บุตรสาวที่ชื่อ ประเจียด และ  ระเบียบนั้นเป็นนักร้องเพลงไทยเสียงดี เป็นที่รู้จักกันในวงการเพลงไทยคนหนึ่งสังกัดวงดนตรีไทย โรงงานสุราบางยี่ขัน  

ครูสาลี่ ถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ ประมาณ ๗๐ ปี ไม่ปรากฏว่ามีผลงานทางด้านการประพันธ์เพลงไทยไว้เลย แต่ก็ได้ยึดอาชีพทางดนตรีมาจนตลอดชีวิตต 

 

อารดา กีระนันทน์ 

(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่าของ จ.ส.อ.พังพอน แตงสืบพันธุ์) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.