จิตร เพิ่มกุศล (พ.ศ. ๒๔๔๕-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

จิตร เพิ่มกุศล (พ.ศ. ๒๔๔๕-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

จิตร เพิ่มกุศล

(พ.ศ. ๒๔๔๕-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

 

ครูจิตร เพิ่มกุศล เป็นบุตรนายเพิ่มและนางหยก เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๕ ตรงกับวันพุธ เดือน ๗ ปีขาล ที่ตำบลบางกรวย จังหวัดนนทบุรี 

ศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนวัดท่า บางสีทอง ตำบลบางกรวย จนจบชั้นประถมปีที่ ๓ วิชาดนตรีนั้น เริ่มจับมือฆ้องใหญ่เพลงสาธุการจากครูพิณ นุ่มแป้น ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาและมีวงปี่พาทย์บรรเลงรับงานอยู่ที่วัดบางสีทองนั่นเอง ร่ำเรียนกับครูพิณจนทำสวดมนต์เย็นฉันเช้าได้แล้ว จึงไปต่อเพลงสามชั้นกับครูเพิ่ม วัดสำโรงและครูบุตร วัดสลัก อีกระยะหนึ่ง ต่อมาภายหลังจึงได้เรียนระนาดกับพระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต) และเรียนฆ้องจากหลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สมพัลค์) กับหลวงสร้อยสำเนียงสนธ์ (เพิ่ม วัฒนวาทิน) จนมีความแตกฉานและได้รับอนุญาตจากหลวงบำรุงจิตรเจริญให้เป็นผู้ต่อเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงได้ ต่อมาภายหลังจึงได้รับมอบให้ทำพิธีไหว้ครูจากอาจารย์มนตรี ตราโมท สำหรับเครื่องหนังนั้นศึกษาจากครูตุ๊วังจันทร์เกษม จนมีความแตกฉานในกองทัด ตะโพน และกลองแขก เป็นอย่างดี 

หน้าที่การงานของครูจิตรนั้น เริ่มด้วยการเข้าเป็นมหาดเล็กในตำแหน่งเด็กชาที่วังจันทร์เกษมเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี หลังจากนั้นจึงไปรับราชการในกรมพิณพาทย์และโขนหลวง กระทรวงวัง จนเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว จึงโอนมารับราชการในตำแหน่งศิลปิน สังกัดกรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙ จนเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ หลังจากนั้นได้สอนดนตรีไทยอยู่ที่โรงเรียนวัดนายโรง ตำบลตลิ่งชัน จนปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๒๕) 

ครูจิตรเพิ่มกุศล นับได้ว่าเป็นครูดนตรีไทยอาวุโสท่านหนึ่งที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อยังรุ่นอยู่นั้นก็เป็นนักดนตรีประจำวงวังจันทร์เกษม ซึ่งเป็นวงดนตรีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ร่วมสมัยเดียวกับครูพริ้ง ดนตรีรส และอาจารย์มนตรี ตราโมท ครูจิตร เล่นเครื่องปี่พาทย์ได้ทุกเครื่องมือ ยกเว้นปี่ แต่ที่ถนัดเป็นพิเศษ คือฆ้องใหญ่และเครื่องหนัง เมื่อคราวที่มีการอัดแผ่นเสียงของราชบัณฑิตยสภา ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ซึ่งมีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นองค์ที่ปรึกษา ครูจิตร ก็ได้รับการคัดเลือกเข้าทำหน้าที่ ตีกลองและรำมะนา ร่วมกับพระพาทย์บรรเลงรมย์ (พิมพ์ วาทิน) ครุเครื่องหนังอาวุโสของวังจันทร์เกษม ครูจิตรได้ทางระนาดจากพระเพลงไพเราะมามิใช่น้อย ทางระนาดของท่านจึงมีความแยบคายชวนฟังยิ่งนัก ไม้ตีระนาดคู่มือของพระเพลงไพเราะยังได้รับการเก็บรักษาไว้ที่บ้านของครูมาจนบัดนี้ ทางฆ้องครูได้มาจากหลวงบำรุงจิตรเจริญ ซึ่งต่อมาได้เป็นครูอาวุโสผู้บอกเพลงหน้าพาทย์ต่าง ๆ ให้แก่ข้าราชการรุ่นหลัง ๆ ของกรมศิลปากร จึงนับได้ว่าเป็นหลักฐานน่าเชื่อถือโดยแท้ ครูจิตรเคยตีฆ้องใหญ่บรรเลงถวายหน้าพระที่นั่ง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังมฤคทายวัน หัวหิน ซึ่งมีพระประดับดุริยกิจ (แหยม วีณิน) เป็นผู้คุมวง และผ่านการบรรเลงในพระราชพิธีต่าง ๆ มาเป็นอันมาก ตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ทั้งการบรรเลงประกอบโขนละครต่างๆ ก็เจนจบครบสิ้น ครูจึงเป็นอีกคนหนึ่งที่สมควรได้รับการยกย่องเป็นนักดนตรีคนสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์สืบไป 

ครูจิตร สมรสกับ นางสาวเทียบ มีบุตรเพียงคนเดียวชื่อ อนงค์ ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๒๕) พักอยู่บ้านเลขที่ ๑๗๑๙ วัดรวกบางบำหรุ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

 

พิชิต ชัยเสรี 

(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่าของครูจิตร เพิ่มกุศล)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.