เจ้าจอมสังวาลย์ในรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ.๒๔๐๙-๒๔๙๖) 

เจ้าจอมสังวาลย์ในรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ.๒๔๐๙-๒๔๙๖) 

เจ้าจอมสังวาลย์ในรัชกาลที่ ๕

(พ.ศ.๒๔๐๙-๒๔๙๖) 

 

เจ้าจอมสังวาลย์ เป็นบุตรีของพระยากษาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) และนางนิ่ม (สกุลเดิม ไกรฤกษ์) เกิดที่บ้านหน้าวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) เมื่อปีขาล พ.ศ.๒๔๐๙ เมื่อเล็กได้เรียนหนังสือจนอ่านออกเขียนได้ และหัดเครื่องสายในบ้าน เป็นผู้มีความสามารถดีคนหนึ่ง และครูได้สอนให้ดีดกระจับปี่จนชำนาญ  

เมื่ออายุราว ๑๐ ปี ได้เข้าไปอยู่ในวังหลวง ฝึกหัดเป็นพนักงานมโหรีกับเพื่อนร่วมรุ่น โดยเฉพาะร่วมงานกับพี่สาว (ลูกผู้พี่) อีก ๒ คน คือ คุณเหม และคุณประคอง ซึ่งต่อมาได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ ทั้ง ๓ คน  

เจ้าจอมสังวาลย์ ได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าจอมมโหรี รับราชการฉลองพระเดชพระคุณในรัชกาลที่ ๕ โดยมีหน้าที่ดีดกระจับปี่ จนเจ้าจอมมารดาวาดและเจ้าจอมมารดาเหมผู้ร่วมวง มีพระองค์เจ้าประสูติแล้วเลิกเล่นมโหรีไป วงมโหรีฝ่ายในวงนี้ก็สลายตัวลง  

ต่อมาท่านได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเจ้าจอม กลับมาอยู่บ้านกับพี่น้องที่บ้านหน้าวัดเลียบอันเป็นบ้านเกิดของท่าน จนเมื่อมีการเวนคืนที่ดินบ้านของท่าน เพื่อสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงย้ายมาอยู่ที่บ้านถนนนเรศ แล้วย้ายไปอยู่ที่บ้านซอยสันติสุข ถนนสุขุมวิท จนถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา รวมอายุได้ ๘๗ ปี ตั้งแต่ออกจากวังหลวงมาแล้ว ท่านมิได้เล่นดนตรีอีกเลย และไม่ได้สอนให้แก่ใครด้วย เพราะระยะหลัง  ๆ  ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา ไม่นิยมเล่นกระจับปี่กัน ท่านจึงมิได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ใดเลย 

 

พูนพิศ อมาตยกุล  

(เรียบเรียงจาก การสัมภาษณ์ น.ส.สงบ และ น.ส.ทับ อมาตยกุล) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.