สอาด (อ๊อกกังวาล) โปร่งน้ำใจ (พ.ศ.๒๔๕๑-๒๕๐๘) 

สอาด (อ๊อกกังวาล) โปร่งน้ำใจ (พ.ศ.๒๔๕๑-๒๕๐๘) 

สอาด (อ๊อกกังวาล) โปร่งน้ำใจ

(พ.ศ.๒๔๕๑-๒๕๐๘) 

นางสอาด เป็นบุตรสาวของจ่าเอกอิน อ๊อกกังวาล ซึ่งมีเชื้อสายมอญ อยู่แถววัดมอญ ตำบลบางไส้ไก่ มีพี่ชาย ๒ คน คือ นายเอื้อน ชำนาญในการเป่าปี่สั้น นายฉอ้อน ชำนาญทางเครื่องหนัง มีน้องสาว ๑ คน คือนางสมวรรค์ธุรการบัณกิจ ไม่สันทัดทางดนตรี จ่าเอกอิน ซึ่งเป็นบิดานั้น รับราชการเป็นทหารเรือในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มาเป็นลูกศิษย์หลวงกัลยาณมิตาวาส (ทับ) อยู่ระยะหนึ่ง นับเป็นผู้มีความสามารถเป็นเยี่ยมในการร้องเพลง โดยเฉพาะเพลงมอญต่าง ๆ ซึ่งถนัดมาแต่เดิม ท่านเป็นต้นแบบที่ร้องเพลงมอญร้องให้ไว้เป็นคนแรก และร้องได้อย่างดีไม่มีใครสู้ จึงมีผู้มาหาไปร้องเพลงนี้ในงานศพอยู่เสมอ  

ในระยะแรกจ่าอินได้ถ่ายทอดวิชาเพลงมอญให้บุตรสาวด้วยตนเอง ต่อมาเมื่อเป็นรุ่นสาว จึงได้พามาฝากให้เรียนร้องเพลงกับ คุณแม่เจริญ พาทยโกศล ภรรยาของจางวางทั่ว พาทยโกศล ผู้เป็นบุตรชายของหลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ) ได้ฝึกฝนจนกระทั่งร้องเพลงได้ดี คุณแม่เจริญ จึงพาไปถวายตัวเป็นนักร้องประจำวงพิณพาทย์วังบางขุนพรหมของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่อครั้งที่วงพิณพาทย์วังบางขุนพรหมบันทึกเสียงกับห้างสุธาดิลก พ.ศ.๒๔๗๑ นั้น นางสาวสอาด หรือที่จางวางทั่วเรียกจนติดปากว่า “สาวสอาด” ก็ได้ร่วมงานร้องเพลงบันทึกเสียงด้วย นักร้องในครั้งนั้นที่สำคัญได้แก่ นางเจริญ พาทยโกศล นางสาวทูน พาทยโกศล (ปัจจุบันคือ คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ) และนางสาวเฉิด อักษรทับ  

หลังจากที่เป็นนักร้องอยู่ในวงวังบางขุนพรหม สาวสอาดก็สมรสกับนายยรรยงค์ โปร่งน้ำใจ คนกลองฝีมือดีของวังบางขุนพรหม เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ และย้ายตามสามีไปอยู่ที่บ้านถนนหลานหลวง ครั้นถึง พ.ศ.๒๔๗๕ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ ต้องเสด็จลี้ภัยการเมืองไปประทับที่ชวา วงพิณพาทย์ที่เคยบรรเลงในวังบางขุนพรหมก็มีอันต้องเลิกไป แต่ยังคงบรรเลงในนามของจางวางทั่ว พาทยโกศล แห่งวัดกัลยาณมิตร สาวสอาด ยังคงมาช่วยร้องเพลงในวงนี้เวลาที่มีงานเสมอ ต่อมาได้มาร่วมร้องเพลงกับแตรวงของนายเอื้อน อ๊อกกังวาล ซึ่งเป็นพี่ชายและเป็นศิษย์ของจางวางทั่วด้วย  

ในระยะสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทั้งนายยรรยงค์ และ สาวสอาด ได้ไปร่วมวงปี่พาทย์มอญของ นายโฮก ย่านตลาดพลู เพื่อช่วยค่าครองชีพ แต่ในบางโอกาสก็ยังมาช่วยงานวงพาทยโกศลบ้าง เช่น ในการขับร้องเพลงและบรรเลงออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียง  

สาวสอาด มีบุตรชายหญิง ๔ คน คือ ร.ท.พิสิทธิ์ โปร่งน้ำใจ นางอุษา แสงไพโรจน์ นางฉันทนา วรชินา และนายองอาจ โปร่งน้ำใจ ทั้ง ๔ คน ได้รับถ่ายทอดวิชาดนตรีจากบิดามารดาทั้งโดยสายเลือดและการฝึกฝนเป็นอย่างดี  

สาวสอาดถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ท่านเป็นนักร้องฝีมือดีคนหนึ่ง เป็นผู้ได้ชื่อว่ามีเสียงสูง เสียงดังฟังชัด ร้องได้จังหวะมีลีลาน่าฟัง น่าเสียดายที่ผลงานของท่านมีเหลืออยู่ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักไม่มากและไม่แพร่หลายนัก มีปรากฏอยู่ในแผ่นเสียงเก่าบ้าง เทปบันทึกเสียงบ้างเท่านั้น 

 

อารดา กีระนันทน์ 

(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล สยามรัฐรายวัน ฉบับประจำวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ และจากการสัมภาษณ์ นางอุษา แสงไพโรจน์ เพิ่มเติม) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.