พระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน) (พ.ศ. ๒๔๓๐-๒๔๖๙) 

พระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน) (พ.ศ. ๒๔๓๐-๒๔๖๙) 

พระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน)

(พ.ศ. ๒๔๓๐-๒๔๖๙) 

 

พระสรรเพลงสรวง (บัว  กมลวาทิน)  เป็นนักดนตรีไทยที่มีฝีมือและชื่อเสียงมากคนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๖ และที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดที่ตำบลผักไห่ แขวงเมืองกรุงเก่า จังหวัดอยุธยา เมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ปีกุน ตรงกับเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๐  บิดาชื่อ จัน มารดาชื่อ พัน ได้เรียนดนตรีมาจากบ้านผักไห่บ้างแล้วตั้งแต่เด็ก จนสามารถร่วมวงกับผู้ใหญ่ได้ โดยเฉพาะสีซออู้ได้ดีมาก เมื่ออายุประมาณ ๑๓-๑๔ ปี ได้เข้ามาอยู่ที่วัดชนะสงคราม กรุงเทพ ฯ เรียนหนังสือที่วัดนี้ประมาณ ๒ ปีเศษ สอบได้ชั้นสี่ประโยคหนึ่งเมื่ออายุ ๑๖ ปี ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ อายุได้ ๑๗ ปี ได้รับพระราชทานเงินเดือนขั้นแรก เดือนละ ๒๐ บาท  เนื่องจากมีความรู้หนังสือดี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงินค่าวิชาเพิ่มให้อีก เป็นเงินเดือน เดือนละ ๖๐ บาท พ.ศ. ๒๔๕๒ ครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชย์แล้ว โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนสรรเพลงสรวง เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ รับพระราชทานเงินเดือนเท่าเดิม และในปีเดียวกันนี้ ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาด้วย (ไม่มีเข็มศิลปวิทยา) มีตำแหน่งเป็นรองหุ้มแพร  

วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นหลวงสรรเพลงสรวง  

พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นมหาดเล็กหุ้มแพร และเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็น “พระสรรเพลงสรวง”  เป็นบรรดาศักดิ์สุดท้ายที่ได้รับ รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๑๑๐ บาท และรับพระราชทานตราช้างเผือก ชั้น ๔ เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๖ แล้ว ยังรับราชการต่อมาจนถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๗   

พระสรรเพลงสรวง เป็นผู้มีฝีมือดีมาแต่อายุยังน้อย เรียนดนตรีมาจากบ้านเดิม แล้วมาเรียนต่อจากพระยาประสานดุริยศัพท์ โดยเฉพาะสามารถเป่าปี่ได้ดี ทั้งปี่ใน ปี่นอก และปี่ชวา พระยาประสานฯ มอบหน้าที่ให้เป็นคนวงพิณพาทย์หลวง ว่าเป่าปี่เสียงดี ทางดี และเฉลียวฉลาด  แม่นเพลง  ในด้านเครื่องสายก็สีซออู้ ซอด้วง ได้ดี แต่ที่ได้รับการยกย่อง คือ สีซออู้ได้ไพเราะนัก เวลาบรรเลงเครื่องสายวงหลวง หากได้เข้าชุดกับหลวงไพเราะเสียงซอ (สีซอด้วง) และหลวงว่องจะเข้รับ (เล่นจะเข้) แล้ว เป็นที่ยกย่องว่า ฝีมือเท่าเทียมกัน บรรเลงได้ดีเยี่ยมเสมอมา จนถึงข้าราชการฝ่ายใน (สตรี) ในวังต้องการเล่นเครื่องสายหรือหัดเครื่องสาย จะต้องเชิญทั้ง ๓ ท่านที่กล่าวนามมานี้ไปเป็นครูสอน หรือร่วมวงด้วยเสมอมา เป็นที่คุ้นเคยกับเจ้านายตั้งแต่มเหสีเทวีมาจนถึงข้าหลวงในตำหนักเล็กใหญ่ ทั้งในวังหลวงและพระราชวังดุสิต เคยร่วมงานอัดแผ่นเสียงกับเจ้าคุณประสานดุริยศัพท์ และเคยเดี่ยวปี่เพลงลาวแพน ไว้กับบริษัทแผ่นเสียง His Master Voice (หมายเลข CG ๑๓๑๓๘๕๙๖๐) เคยควบคุมวงดนตรีของพระสุจริตสุดา พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๖ และเป็นครูสอนซออู้ให้แก่ ครูฉลวย จิยะจันทน์ นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานเหรียญบำเหน็จรางวัลแห่งความยั่งยืนในราชการเสือป่า ๑๕ ปี อีกด้วย   

ชีวิตครอบครัว พระสรรเพลงสรวง แต่งงานครั้งแรกกับ นางสาวทับทิม บุตรีนายทิน และนางจีบ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ มีบุตร ๔ คน ชาย ๒ คน ชื่อ กมล และกุมุท หญิง ๒ คน ชื่อ พัน และ บุศรา หย่าขาดจากคุณทับทิม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ มาแต่งงานกับ ม.ล.ชลินทร์ ทินกร มีบุตรชาย ๓ คน ชื่อ บรรเลง  ดำรงค์ และสมพงษ์ ตามลำดับ  ไม่ปรากฎว่ามีบุตรคนใดเป็นนักดนตรี ม.ล. ชลินทร์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙   

พระสรรเพลงสรวง ได้รับพระราชทานนามสกุล “กมลวาทิน” เพราะมีชื่อเดิมว่า “บัว” ตามประกาศ ลงวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๖  พร้อมกับหลวงบรรเลงเลิศเลอ (กร กรวาทิน) และหลวงศรีวาทิต (อ่อน โกมลวาทิน) ในรัชกาลที่ ๗ ท่านก็ยังคงเป็นปี่ของวงปี่พาทย์หลวง และกำลังเตรียมตัวที่จะเป่าปี่ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค  แต่ป่วยด้วยโรคริดสีดวงทวาร ตกโลหิตเสียก่อน ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลกลางและแพทย์ได้ทำการผ่าตัดให้ แต่แผลยังไม่ทันหายดีก็ขอกลับบ้านก่อน กลับมาอยู่บ้านไม่นานก็ตกโลหิตอีก แล้วมีอาหารโรคบาดทะยักแทรก  ถึงแก่กรรมที่บ้านถนนสามเสน  ตำบลบางขุนพรหม เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ โดยมิได้มีโอกาสเป่าปี่เป็นครั้งสุดท้ายตามที่ได้ตั้งใจไว้  รวมอายุได้ ๓๙ ปี 

 

พูนพิศ อมาตยกุล  

(เรียบเรียงจาก  เอกสารทะเบียนประวัติ  กรมมหรสพ) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.