ขุนสมานประหาสกิจ (แคล้ว วัชโรบล) (พ.ศ. ๒๔๑๒-๒๔๘๖)

ขุนสมานประหาสกิจ (แคล้ว วัชโรบล) (พ.ศ. ๒๔๑๒-๒๔๘๖)

ขุนสมานประหาสกิจ (แคล้ว วัชโรบล)

(พ.ศ. ๒๔๑๒-๒๔๘๖)

 

ขุนสมานประหาสกิจ นามเดิม คือ นายแคล้ว วัชโรบล เกิดเมื่อปีมะเส็ง  พ.ศ. ๒๔๑๒ ที่จังหวัดเพชรบุรี  บิดาชื่อ ขุนศุภมาตรา (ครื้น)  มารดาไม่ปรากฎนาม

เมื่อเป็นเด็ก นายแคล้ว วัชโรบล ได้เรียนหนังสือที่วัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี  เริ่มเรียนดนตรีที่บ้านของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี เจ้าพระยาสุรพันธพิสุทธิ (เทศ บุนนาค) ซึ่งเป็นพี่เขยของท่าน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาซ้อมรบเสือป่าที่ตำบลเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี นายแคล้ว ได้มาร่วมซ้อมรบด้วย ได้มีโอกาสขึ้นเสียงเปียโนซึ่งเสียงเพี้ยนบรรเลงไม่ได้  ถวายจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้ซ่อมเครื่องถวายอีกหลายครั้ง จึงทรงพระราชทานนามสกุลให้ว่า “วัชโรบล” ซึ่งได้มาจากนามบรรพบุรุษของท่าน คือ นายบัว กับ นางแก้ว

นายแคล้ว วัชโรบล  มีภรรยาและบุตร ดังนี้

ภรรยาคนแรก ชื่อ วัน มีบุตรชื่อ เคลิ้ม

ภรรยาคนที่ ๒ ชื่อ แป้น มีบุตรชื่อ คล้อง กับ คลุ้ม

ภรรยาคนที่ ๓ ชื่อ ย้อย มีบุตรชื่อ คล้ำ

ภรรยาคนที่ ๔ ชื่อ ใหม่  มีบุตรชื่อ เคลือบ กับ แคลง

นายแคล้ว ได้เข้ารับราชการอยู่ในกรมมหรสพ  ทำหน้าที่จำอวดหลวง ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนสมานประหาสกิจ”  ระหว่างที่รับราชการ ได้รับพระราชทานบ้านให้อยู่ที่ปากคลองตลาด  ที่บ้านนี้ ท่านได้ตั้งแตรวงขึ้น รับจ้างบรรเลงในงานต่าง ๆ ทั้งในกรุงและต่างจังหวัด  อีกทั้งยังรับบรรเลงหน้าโรงภาพยนตร์ และในโรงประกอบการฉายภาพยนตร์ด้วย

ในการต่อเพลงนั้น ขุนสมานประหาสกิจ ใช้วิธีจำเสียงแบบโบราณ ไม่เคยใช้โน้ตเลย  ท่านสามารถเล่นดนตรีได้หลายอย่างและผลิตเครื่องดนตรีขายได้อีกด้วย เช่น ขลุ่ย และกลองมะริกัน  นอกจากนี้ ยังสามารถซ่อมเครื่องดนตรีได้หลายอย่าง  ท่านเป็นคนแรกที่สามารถซ่อมลิ้นออร์แกนได้ สามารถซ่อมหีบเพลงชักได้ดี และสามารถพันสายลวดทองแดงทำเป็นสายเปียโนได้

ผลงานของขุนสมานประหาสกิจในปัจจุบันนี้ มีเหลืออยู่น้อย  ส่วนมากเป็นแผ่นเสียงเก่าไม่กี่แผ่น ซึ่งขุนสมานประหาสกิจได้บรรเลงดนตรีประกอบการร้อง ใช้ชื่อวงว่า “วงนายแคล้ว”

ท่านเป็นทั้งหัวหน้าวงดนตรีและครูสอนดนตรี  ลูกศิษย์คงมีหลายคนแต่ไม่ปรากฎนาม และบรรดาลูกชายของท่านทั้งหมดมีหัวทางดนตรีทุกคน แต่ไม่มีใครยึดเป็นอาชีพเลย

ขุนสมานประหาสกิจ ได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่แถวบ้านหม้อ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ อายุได้ ๗๔ ปี

 

วชิราภรณ์ วรรณดี

(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.