สมภพ ขำประเสริฐ (พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๕๔๓) 

สมภพ ขำประเสริฐ (พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๕๔๓) 

สมภพ ขำประเสริฐ

(พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๕๔๓) 

 

นายสมภพ ขำประเสริฐ เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘  ที่บ้านใกล้วัดเทพธิดาราม  ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ข้างโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จึงได้ยินและได้เห็นทหารเดินแถวเป่าแตรมาตั้งแต่เด็ก ครั้นโตขึ้นได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดชนะสงครามและไปเรียนต่อที่โรงเรียบเซนต์คาเบรียล จนจบชั้นประถมปีที่ ๔ ไม่ได้เรียนต่ออีก เผอิญญาติชื่อ “ครูเสนอ” เป็นบุตรเจ้าเมืองอ่างทอง ชวนไปหัดเป่าแตรที่ตำบลวัดโพธิ์เอน อำเภอท่าช้าง จังหวัดอ่างทอง  จึงไปหัดอยู่กับเพื่อน ๆ รวม ๑๒ คน  ทุกวันตั้งแต่เช้าจนสายจนได้เพลงโยสลัม ๒ ชั้น จากนั้นก็กลับกรุงเทพมหานคร ขณะนั้นอายุได้ ๑๔ ปี เมื่อมาอยู่กรุงเทพฯ ได้มีโอกาสรู้จัก ครูประสบ  เรืองจรูญ (พระสังขรักษ์ วัดพระพิเรนทร์) ซึ่งมีความรู้ทั้งทางปี่พาทย์  ขับร้อง และเล่นลิเกได้  ครูประสบพาตัวไปฝากเป็นลูกศิษย์ของครูพุ่ม โตสง่า ครูสอนดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง เพลงแรกที่ครูพุ่มต่อให้ คือ เพลงสาธุการ ซึ่งครูสมภพ สามารถตีได้จบภายในวันเดียว เลยได้เป็นลูกศิษย์ของครูพุ่ม ร่วมกับคนอื่น ๆ อีก ๘ คน เครื่องดนตรีที่ฝึกคือ ฆ้องวงใหญ่ ระนาดเอก และระนาดทุ้ม ตามลำดับ ขณะที่อยู่เรียนดนตรีอยู่ที่บ้านครูพุ่มนี้ ครูสมภพ มีหน้าที่จ่ายตลาดและตำน้ำพริก จนอายุได้ ๑๗ ปี สามารถตีฆ้องเพลงกราวในได้ โดยอาศัยจดจำเอาจากการที่ได้ยิน นายช่อ อากาศโปร่ง ฝึกตีเป็นประจำทุกวัน เมื่อครูพุ่มได้ทราบก็ต่อเพลงกราวใน ๓ ชั้น ให้ แล้วให้สิทธิพิเศษไม่ต้องจ่ายตลาดและตำน้ำพริกอีกต่อไป แต่จะต้องซ้อมตีระนาดและฆ้องใหญ่ เพลงกราวในให้คล่องภายในระยะเวลาที่กำหนดคือ ครึ่งเดือนแรกตีติดต่อกันจนจบ ๓ เที่ยว หลังจากนั้นให้ตีติดต่อกันจนจบ ๕ เที่ยว ในเดือนที่ ๒ พอขึ้นเดือนที่ ๓ ให้ตีติดต่อกันจนจบ ๑๖ เที่ยว การตีติดต่อกันโดยไม่หยุดเลยเป็นจำนวน ๑๖ เที่ยวของเพลงกราวในนั้น นับว่าต้องใช้ความพยายามและความอดทนมาก ครูสมภพใช้เวลาอยู่หลายเดือนกว่าจะทำสำเร็จ ตั้งแต่นั้นมาก็ได้รับความไว้วางใจจากครูพุ่มมาก เพราะเป็นศิษย์ที่มีความพยายามและความอดทนดี และก่อนที่ครูพุ่มจะถึงแก่กรรมก็ได้ต่อเพลงกราวในเถาให้เป็นเพลงสุดท้าย   

พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร  ศิลปบรรเลง) ได้รับความรู้ทางดนตรีแตกฉานมากขึ้น ได้รับคำแนะนำจากนักดนตรีรุ่นพี่อีกหลายคน เช่น ครูใจ  ครูเผือด ครูพิมพ์ ครูฟุ้ง วิชชเวช และครูทองต่อ กลีบชื่น (คือเรือเอกโองการ กลีบชื่น) ศิษย์ร่วมรุ่นในสำนักดนตรีแห่งนี้ก็มี นายประสิทธิ์ ถาวร  นายกิ่ง พลอยเพชร นายช่อ อากาศโปร่ง นายบุญยงค์ เกตุคง นายบุญยัง  เกตุคง ร้อยเอกเสนาะ หลวงสุนทร และศาสตราจารย์ ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์ เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ ถึงแก่กรรมก็ได้ต่อเพลงกับครูโองการ กลีบชื่น ต่อมา   

พ.ศ. ๒๔๙๔ สมรสกับนางสาวประชิต นักร้องเพลงไทยเสียงดี ซึ่งเป็นครูสอนวิชาดนตรีไทยศึกษาอยู่ที่โรงเรียนวัดราชาธิวาส กรุงเทพมหานคร มีบุตรธิดาด้วยกัน ๔ คน ทุกคนมีพรสวรรค์ทางด้านดนตรีไทยและนาฏศิลป์ ศึกษาอยู่ในวิทยาลัยนาฏศิลป 

ความสามารถในด้านดนตรีไทยของครูสมภพนั้น เป็นที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป กรมศิลปากรได้ออกวุฒิบัตรรับรองการเป็นศิลปินทางดนตรีไทยของท่าน และได้รับมอบให้เป็นผู้ทำพิธีไหว้ครูจากคุณหญิงชิ้นศิลปบรรเลง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ ผลงานทางด้านดนตรีไทยของท่าน นอกจากความชำนาญอย่างยิ่งในการบรรเลงระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องใหญ่ และฆ้องเล็กแล้ว ยังได้แต่งเพลงไว้หลายเพลง คือ เพลงโหมโรงมหาราช ๓ ชั้น เพลงมะลิวัลย์ ๓ ชั้น เพลงจำปานารีเถา เพลงโหมโรงปฐมฤกษ์ ๓ ชั้น และเพลงม่านมงคลใหญ่ ๓ ชั้น  เพลงที่ปรับปรุงทางเปลี่ยน ได้แก่ เพลงจระเข้หางยาวเถา  เพลงพันธุ์ฝรั่งเถา (ทางฝรั่ง) และเพลงสร้อยมยุรา (ทางมอญ) เพลงที่แต่งทางใหม่สำหรับประกอบการแสดงละครเรื่องนางหงส์ ได้แก่ เพลงย่ำไทยและเพลงท้ายเครื่องต่าง ๆ อีกหลายเพลง สำหรับเพลงจำปานารีเถา ที่ท่านแต่งใหม่ทั้งเพลงนั้น ครูประชิตผู้ภรรยาเป็นผู้ประดิษฐ์ทางขับร้อง นอกจากนี้ยังมีเพลงทางเดี่ยวที่ท่านแต่งขึ้นอีก คือ เพลงสุดสงวน ๓ ชั้น สำหรับบรรเลงเดี่ยวด้วย ระนาดเอก  ระนาดทุ้ม  ฆ้องใหญ่ และฆ้องเล็ก เพลงหกบท ๓ ชั้น สำหรับเครื่องปี่พาทย์รอบวง เพลงอาเฮีย  ๓ ชั้น สำหรับระนาดทุ้ม ฆ้องใหญ่ และฆ้องเล็ก   

พ.ศ. ๒๕๑๗ เคยนำวงเข้าประชันปี่พาทย์ที่วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร ได้รับรางวัลชนะเลิศ ครูสมภพ สอนดนตรีไทยอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร นครปฐม และพักอยู่ที่บ้านเลขที่ ๔๑/๒๖ จรัญสนิทวงศ์ฯ (เสสะเวช) แขวงท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๗ ครูสมภพได้ถึงแก่กรรม สิริรวมอายุได้ ๗๕ ปี 

 

วชิราภรณ์ วรรณดี 

(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.