เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ (ลดาวัลย์) ในรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๓๓-๒๕๒๖) 

เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ (ลดาวัลย์) ในรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๓๓-๒๕๒๖) 

เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ (ลดาวัลย์) ในรัชกาลที่ ๕

(พ.ศ. ๒๔๓๓-๒๕๒๖) 

 

เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ เดิมชื่อ ม.ร.ว. สั้น ลดาวัลย์ เกิดในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันศุกร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๓ ตรงกับวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๓ ณ วังกรมหมื่นภูมินทรภักดี ตำบลปากคลองตลาด แขวงพระราชวัง กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรีของหม่อมเจ้าเพิ่ม และหม่อมช้อย ลดาวัลย์ นับเนื่องเป็นหลานทวดในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และเจ้าจอมมารดาเอม (น้อย) เมื่ออายุได้ ๑๑ ขวบ ได้เข้าถวายตัวอยู่ในพระอุปการะของ พระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ เปลี่ยนชื่อเป็น “สดับ” เมื่อเข้ามาอยู่ในวังหลวงแล้ว   

พ.ศ. ๒๔๔๘ อายุ ๑๕ ปี ได้ถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายใน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ รับราชการเป็นเจ้าจอม เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๙ อายุยังไม่เต็ม ๑๖ ปี  

เริ่มหัดดนตรีไทยโดยเฉพาะหัดขับร้องเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ โดยเริ่มต่อเพลงกับคุณเฒ่าแก่จีบ แล้วต่อเพลง ๓ ชั้น จากหม่อมส้มจีน (ในพระยาราชานุประพันธ์ สุดใจ บุนนาค) ต่อเพลงละครจาก หม่อมศิลา (ในพระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์) ต่อเพลงขับร้องกับเดี่ยวซอสามสายบางเพลงจาก หม่อมสุด (ในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ช่วง บุนนาค) และยังมีครูสอนร้องอีก ๓ ท่าน คือ คุณปลีก พนักงานสะอาด แม่หลง และหม่อมคล้ำหรือหม่อมคร้าม ในเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์  

ได้รับการครอบให้เป็นคนร้องในพิธีไหว้ครู โดยประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด) และเป็นศิษย์ของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ด้วย มีความสามารถในการขับร้องยอดเยี่ยมคนหนึ่งในราชสำนักรัชกาลที่ ๕ เสียงเพราะ แหลมสูงและดัง ท่านครูจัดให้เป็น “คนเสียงกรวด” เป็นต้นเสียงมาตั้งแต่ก่อนจะได้เป็นเจ้าจอม ได้ขับร้องเพลงจากพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่าเป็นรุ่นแรก โดยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทร้องพระราชทานลงมาจากในที่เป็นตอนสั้น ๆ แล้วพระยาเสนาะดุริยางค์เป็นผู้บรรจุเพลงให้เจ้าจอมสดับเป็นต้นเสียงขับร้อง มีนักร้องร่วมวงสมัยนั้นอีกหลายท่าน อาทิ นางสาวเยี่ยม ณ นคร (ต่อมาเป็น คุณหญิงรามบัณฑิตสิทธิเศรณี) นางสาวเป้า และครูท้วม ประสิทธิกุล เป็นต้น มีความสามารถในการขับร้อง เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก นัยว่าร้องดี เสียงดังฟังชัด แบ่งวรรคตอนถูกต้อง และอักขระชัดเจนดี มีอารมณ์แทรกได้ถูกที่ตามความหมายของบทร้อง เป็นผู้มีความรู้ ได้เพลง ๒ ชั้นมาก  ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้บอกทางเพลงเก่า ๆ ไว้แก่นักร้องกรมศิลปากรหลายครั้งด้วยกัน และได้มีการบันทึกเทปไว้ด้วยที่กองการสังคีต กรมศิลปากร  

เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ เป็นผู้มีการศึกษาดี มีความรู้ทางธรรมะ จนถึงเขียนหนังสือบทร้อยกรองและคาถาเป็นภาษาบาลีได้  ผลงานของท่านคือ ปิยมหาราชวรสฺส ทกษิานุปทานคาถาฯ และลิลิตสั้น ๆ ชื่อว่า บทปฏิการคุณมารดา ทั้งได้ให้สัมภาษณ์เรื่องราวเก่า ๆ สมัยรัชกาลที่ ๕ ไว้มาก ใน พ.ศ. ๒๕๒๕ ท่านอายุ ๙๑ ปีแล้ว แต่ความจำยังดีมาก ได้เป็นผู้เล่าประวัติหม่อมส้มจีน ประวัติคุณหญิงรามบัณฑิตสิทธิเศรณี ประวัติคุณเฒ่าแก่จีบ ประวัติ ม.ร.ว. จำรัสศรี และประวัติการเกิดบทพระราชนิพนธ์เงาะป่า ไว้เป็นบันทึกในอดีตที่สำคัญยิ่ง   

เจ้าจอมสดับเป็นหนึ่งในกลุ่มนักร้องที่ได้ทำหน้าที่เป็น “นางร้องไห้” ชุดสุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคต และพระบรมศพประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๔๕๔) ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เลิกธรรมเนียมนางร้องไห้มาแต่ครั้งนั้น เพลงนางร้องไห้ จึงมีทีท่าว่าจะสูญ มีเหลือเจ้าจอมสดับเพียงคนเดียวที่ยังจำได้ และได้ร้องบันทึกเสียงฝากไว้กับพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมมพร   

ท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ 

 

พูนพิศ อมาตยกุล  

(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่าของเจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์ ในรัชกาลที่ ๕) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.