ศุข นักดนตรี (พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๕๒๓)

ศุข นักดนตรี (พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๕๒๓)

ศุข นักดนตรี

(พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๕๒๓)

 

นายศุข  นักดนตรี  เป็นบุตรของนายเขียว และนางเที่ยง นักดนตรี เกิดที่จังหวัดสมุทรสงคราม   ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๓๖ เรียนดนตรีจากบิดาตั้งแต่เด็ก จนสามารถร่วมวงประกอบอาชีพร่วมกับบิดาได้ โดยทำหน้าที่เป็นคนเป่าปี่  ต่อมาได้เข้ามากรุงเทพฯ ได้เป็นศิษย์ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร  ศิลปบรรเลง) จนได้เป็นคนเป่าปี่ประจำวง นายศุข มีความสามารถเล่นดนตรีได้รอบวง ตลอดจนเครื่องสาย มีความรู้ความชำนาญในการบรรเลงประกอบการแสดงโขนละครได้เป็นอย่างดี ตลอดจนถึงเพลงพิเศษ เช่น สะระหม่า บัวลอย

ในปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ต่อต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ร่วมวงกับหลวงประดิษฐไพเราะ บันทึกเสียงกับห้างสุธาดิลก  โดยทำหน้าที่เป็นผู้เป่าปี่ใน และร่วมวงกับ คุณหญิงรามบัณฑิตสิทธิเศรณี (เยี่ยม  สุวงศ์) บันทึกแผ่นเสียงตราเศรณี กับบริษัทอัดแผ่นเสียงเยอรมัน และห้าง ต. เง็กชวน  นายศุข เป็นผู้ให้ข้อสังเกตว่า การบรรเลงปี่และขลุ่ย เวลาบันทึกเสียงควรบรรเลงอยู่ห่าง ๆ วง จะได้เสียงไพเราะมากกว่าอยู่ชิดวง

ในวงการกีฬา  นายศุข เป็นผู้เป่าปี่มวยไทย โดยมี ครูพริ้ง ดนตรีรส เป็นผู้ตีกลองประกอบมาตั้งแต่สมัยเวทีมวยไทยยังเป็นเวทีคาดเชือก สนามมวยที่ไปทำหน้าที่เป่าปี่ประจำ คือ สนามมวยสวนกุหลาบ ท่าช้าง และศาลาแดง  ทางปี่มวยและทางปี่เพลงบัวลอยได้มอบไว้กับศิษย์คณะแสงทับทิม ปทุมธานี

นายศุข แต่งงานกับภรรยาชื่อ ลิ้ม มีบุตร ๓ คน ชื่อ จำรวย สำราญ และทองหล่อ ต่อมามีภรรยาคนที่ ๒ ชื่อ หุน  มีบุตรชายหญิงด้วยกัน ๗ คน เป็นนักดนตรี ๕ คน คือ

๑. ชาย ชื่อ ทองห่อ ชำนาญระนาดทุ้มมาก

๒. ชาย ชื่อ ศิริ เล่นดนตรีไทยได้รอบวง มีความสามารถมาก

๓. ชาย ชื่อ ชฎิล ชำนาญการตีฆ้องและขับร้อง

๔. หญิง ชื่อ ศิริกุล มีความสามารถในการขับร้อง

๕. ชาย ชื่อ ดวง มีฝีมือในการเป่าปี่ เคยรับราชการในกรมประชาสัมพันธ์ ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๒๖) เสียชีวิตแล้ว

นายศุข ได้ถ่ายทอดวิชาดนตรีไทยให้แก่บุตรธิดาและศิษย์เป็นจำนวนไม่น้อย ตลอดชีวิตไม่เคยรับราชการ ยึดอาชีพเป็นนักดนตรีอิสระ ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งที่ปอด เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ รวมอายุได้ ๘๗ ปี

 

พูนพิศ อมาตยกุล

(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่าของ นายศิริ นักดนตรี)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.