เจ้าจอมมารดาศิลา ในรัชกาลที่ ๒  (ไม่ทราบปีที่เกิด และ ปีที่ถึงแก่กรรม)

เจ้าจอมมารดาศิลา ในรัชกาลที่ ๒  (ไม่ทราบปีที่เกิด และ ปีที่ถึงแก่กรรม)

เจ้าจอมมารดาศิลา ในรัชกาลที่ ๒ 

(ไม่ทราบปีที่เกิด และ ปีที่ถึงแก่กรรม)

 

เจ้าจอมมารดาศิลา เกิดในสกุล ณ บางช้าง และเป็นพระญาติสนิทของ กรมสมเด็จพระอัมรินทรามาตย์ พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ไม่ทราบนามบิดา ทราบแต่นามมารดาว่า ฟักทอง เป็นหลานตาของ “ขุนสนิทภิรมย์”  รับราชการเป็นเจ้าจอมมารดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  

เล่ากันต่อ ๆ มาว่า เวลาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์บทละครต่าง ๆ โดยมี กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรส (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว)  ท่านสุนทรภู่ ฯลฯ เป็นผู้ร่วมงานกวีนิพนธ์นั้น เมื่อแต่งเป็นกลอนเสร็จก็จะมีพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าจอมมารดาศิลา เป็นผู้บรรจุเพลงขับร้องถวายเป็นการทดลองก่อน ในขณะเดียวกันก็โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งพระฉายขนาดใหญ่ขึ้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าชายพนมวัน กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ทรงประดิษฐ์ท่ารำไปพร้อมกัน โดยทรงรำอยู่หน้าพระฉาย หากเพลงและกระบวนรำเข้ากันดีแล้ว ก็โปรดฯ ให้บันทึกไว้ นับเป็นแบบอย่างการแต่งบทละครที่สมบูรณ์แบบที่สุด ซึ่งเริ่มต้นในรัชกาลที่ ๒  

ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า เจ้าจอมมารดาศิลาได้เรียนการขับร้องมาจากครูท่านใด แต่เมื่อทราบว่าเป็นชาวบางช้าง อันเป็นเมืองแห่งนักดนตรีแล้ว ก็เชื่อได้ว่า คงจะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในเพลงการมาตามแนวของบรรพบุรุษอย่างแน่นอน  ศิษย์ของท่านคือ หม่อมศิลา และหม่อมเปรม ในพระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ ทางขับร้องของเจ้าจอมมารดาศิลาตกทอดผ่านหม่อมศิลาผู้เป็นหลานสะใภ้ของท่านลงมายังนักร้องทุกคนในวังบ้านหม้อ อันได้แก่ หม่อมเจริญ หม่อมมาลัย หม่อมจันทร์ หม่อมคร้าม ฯลฯ ซึ่งเป็นภริยาของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร) เจ้ากรมมหรสพในรัชกาลที่ ๕  

เจ้าจอมมารดาศิลา มีพระองค์เจ้าประสูติด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รวม ๕ พระองค์ด้วยกัน ตามลำดับพระชนมายุ คือ พระองค์เจ้าหญิงวงศ์ (ประสูติ พ.ศ. ๒๓๓๔) พระองค์เจ้าชายพนมวัน (ประสูติ พ.ศ. ๒๓๓๗) ทรงกรมเป็นกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ เป็นต้นราชสกุลพนมวัน องค์ที่ ๓ คือพระองค์เจ้ากุญชร (ประสูติ พ.ศ. ๒๓๔๑) ทรงกรมเป็น กรมพระพิทักษ์เทเวศร์  ต้นราชสกุล กุญชร องค์ที่ ๔ คือ พระองค์เจ้าชาย “ทินกร” (ประสูติ พ.ศ. ๒๓๔๔) ทรงกรมเป็น กรมหลวงภูเบศนรินทร์ฤทธิ์ ต้นราชสกุล ทินกร และองค์สุดท้าย คือ พระองค์เจ้าหญิงอินทนิล (ประสูติ พ.ศ. ๒๓๕๗) 

เจ้าจอมมารดาศิลานั้น ประมาณว่าเกิดในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี และถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลที่ ๓ รายละเอียดนอกจากนี้ยังมิอาจค้นคว้าได้

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่าของ ม.ล.แฉล้ม กุญชร และนายสมภพ จันทรประภา)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.