ขุนลิขิตสุนทร (หยิน) (พ.ศ. ๒๔๒๕-๒๔๗๐)

ขุนลิขิตสุนทร (หยิน) (พ.ศ. ๒๔๒๕-๒๔๗๐)

ขุนลิขิตสุนทร (หยิน)

(พ.ศ. ๒๔๒๕-๒๔๗๐)

 

ขุนลิขิตสุนทร  มีนามเดิมว่า หยิน เป็นข้าราชการสังกัดกรมพระอาลักษณ์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังค้นไม่ได้ว่าเป็นบุตรของท่านผู้ใด ประมาณว่าเกิดราวปี พ.ศ. ๒๔๒๕ หรือหลังจากนี้เล็กน้อย

เดิมทีเดียวเป็นนักสวดคฤหัสถ์ และได้มาฝากตัวเป็นศิษย์เรียนขับร้องกับหม่อมส้มจีน โดยต่อเพลงกับหม่อมครูที่บ้านในคลองบางหลวง เคยพบกับครูท้วม ประสิทธิกุล บ่อย ๆ ในสมัยปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รวม พ.ศ. ๒๔๕๑-พ.ศ. ๒๔๕๓) ตอนนั้นนายหยิน อายุราว ๒๐ ปีเศษ มาต่อเพลง จนหม่อมส้มจีนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓

ต่อมาได้รับราชการในกระทรวงทหารเรือ จึงได้เป็นศิษย์ของ ท่านจางวางทั่ว พาทยโกศล มีโอกาสได้ต่อเพลงจาก คุณแม่เจริญ พาทยโกศล เพิ่มเติมอีก จึงได้ทางเพลงของบ้านวัดกัลยาณ์ และของวังบางขุนพรหมไว้มาก นายหยินเคยอัดแผ่นเสียงไว้กับวงดนตรีเชลยศักดิ์ ของ นายแคล้ว วัชโรบล (ต่อมาเป็น ขุนสมานประหาสกิจ) เท่าที่ค้นพบ มีเพลงสี่บท ๓ ชั้น บรรเลงด้วยวงเครื่องสายผสมเปียโน กับเพลงชื่อ ชงโค บรรเลงด้วยวงโยธวาทิต

อาจารย์มนตรี ตราโมท เล่าว่า นายหยิน ชอบลองภูมินักดนตรี เช่น ร้องเพลงแปลก ๆ ให้วงดนตรีรับ ครั้งหนึ่งเคยถามอาจารย์มนตรีว่า ได้เพลงแขกมัสรีที่ทูลกระหม่อมบริพัตร ทรงพระนิพนธ์ใหม่แล้วหรือยังว่ามาจากเพลงแขกหนัง อาจารย์มนตรีตอบว่าได้แล้ว ทั้งที่ความจริงยังไม่ได้ กลับมาถึงบ้านแล้ว อาจารย์มนตรี ต้องมาทำเพลงแขกหนังเป็นเถาเอาไว้เตรียมรับ หากนายหยินร้องขึ้นมาจะได้รับได้ เพลงที่อาจารย์มนตรีแต่งขึ้นนี้ คือ เพลงแขกกุลิต เถา

ตอนกลางรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นายหยินเลิกร้องเพลง แต่รับราชการต่อมา เป็นเจ้าหน้าที่ กรมพระอาลักษณ์  ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนสุนทรลิขิต จนถึงแก่กรรมเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๗๐ อายุประมาณ ๕๕ ปี

 

พูนพิศ อมาตยกุล

(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่าของ อาจารย์มนตรี ตราโมท และครูท้วม ประสิทธิกุล)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.