ลม่อม อิศรางกูร ณ อยุธยา (พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๕๔๐)

ลม่อม อิศรางกูร ณ อยุธยา (พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๕๔๐)

ลม่อม อิศรางกูร ณ อยุธยา

(พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๕๔๐)

 

ครูลม่อม เป็นชาวจังหวัดนนทบุรี  เกิดเมื่อวันจันทร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ บิดาเป็นทหาร ชื่อ ร.ท. จันทร์  มารดาชื่อ ชื่น นามสกุลเดิมคือ แสนช่างทอง เริ่มต้นเรียนขับร้อง เมื่ออายุได้ ๘ ปี กับครูเรื่อง และเรียนต่อจากครูเชื้อ  นักร้อง จึงได้ทางขับร้องของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เป็นพื้นฐาน อายุได้ ๑๕ ปี ก็เริ่มออกงานขับร้องเพลงตับ เพลงเถาต่าง ๆ  อายุได้ ๑๖ ปี ก็สมรสกับ ม.ล. เปลื้อง อิศรางกูร ซึ่งต่อมาเป็น เนติบัณฑิตทางกฎหมาย มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอรรถปริมลวุจดี มีบุตรธิดาด้วยกัน ๗ คน เป็นชาย ๒ หญิง ๕  

เมื่ออายุ ๒๐ ปี  ได้เริ่มขับร้องออกอากาศทางวิทยุศาลาแดง (พ.ศ. ๒๔๗๑) ปรากฎว่ามีผู้นิยมว่าร้องเพลงเพราะ เสียงดี จึงร้องเพลงออกอากาศเป็นประจำกับวงดนตรีขุนพิทักษ์ และขุนภักดีเรื่อยมา  ต่อมาได้เป็นศิษย์ของแม่ครูเคลือบ จึงได้เรียนร้องเพลงหุ่นกระบอก ซึ่งครูลม่อมสามารถร้องได้ดีมาก เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าร้องเพลงหุ่นกระบอกได้ดีที่สุด  

อายุได้ ๒๒ ปี (พ.ศ. ๒๔๗๓)  ได้เป็นครูสอนขับร้องให้มหาดเล็กข้าหลวงในวังลดาวัลย์ อันเป็นที่ประทับของ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ และสมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์  ระยะนี้ได้ต่อเพลงกับหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นเวลาติดต่อกันถึง ๘ ปี ส่วนมากต่อเพลงสามชั้นและเพลงเถาต่าง ๆ 

นอกจากจะเป็นศิษย์ของหลวงประดิษฐไพเราะแล้ว  ยังได้มีโอกาสต่อเพลงจากบ้านท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล คือ ต่อจากคุณแม่เจริญ พาทยโกศล และได้เคยร่วมร้องเพลงกันมากับคุณหญิงไพฑูรย์  กิตติวรรณ ตั้งแต่สมัยยังเป็นสาว เป็นที่เลื่องลือกันว่า ถ้าให้สองคนนี้มาร้องเพลง โอ้ปี่นอก โอ้ปี่ใน แล้ว ไม่มีใครเท่า เพราะนอกจากจะเสียงเพราะแล้วยังมีลูกคอดีทั้งสองคน  

ครูลม่อม อิศรางกูร ณ อยุธยา  ได้บันทึกแผ่นเสียงไว้กับห้าง ต. เง็กชวน บางลำพู และอีกหลายบริษัท อาทิ เพลงกราวใน มีนายเกิด มงคล เป็นผู้เดี่ยวจะเข้ เพลงเขมรไทรโยค  บรรเลงโดยวงเครื่องสายผสมเปียโน คณะผดุงจิต และเพลงหุ่นกระบอกต่าง ๆ ซึ่งครูละม่อมได้รับชื่อเสียงในการร้องเพลงหุ่นกระบอกมากกว่าการร้องในแบบอื่น  ผู้ที่เคยได้เรียนเพลงหุ่นกระบอกจากท่าน ได้แก่ ครูสุดา เขียววิจิตร ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต และคุณนฤมล อิศรางกูร ณ อยุธยา (บุตรของท่าน)

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก บันทึกประวัติศิลปินเพลงไทย ซึ่งให้ข้อมูลโดยครูลม่อม อิศรางกูร ณ อยุธยา)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.