เรียม รุ่งศรีทอง (พ.ศ. ๒๔๔๗-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

เรียม รุ่งศรีทอง (พ.ศ. ๒๔๔๗-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

เรียม รุ่งศรีทอง

(พ.ศ. ๒๔๔๗-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

 

นายเรียม รุ่งศรีทอง เป็นนักร้อง ขับเสภา และนักสวดคฤหัสถ์มีชื่อเสียงมาก สมัยรัชกาลที่ ๖ และ ๗ โดยร่วมงานกับ หลวงกล่อมโกศลศัพท์ (จอน  สุนทรเกศ)  

บิดาเป็นจีนมาจากแผ่นดินใหญ่ชื่อ นำเส็ง  มารดาเป็นไทยชื่อ ทองคำ  มีพี่ชาย ๒ คนชื่อ เจริญ และนำชัน  มีพี่สาว ๒ คนชื่อ ฟุ้ง และหนุย ตัวนายเรียมเป็นคนสุดท้อง เกิดที่บ้านตำบลเสาชิงช้า ใกล้วัดสุทัศน์เทพวราราม เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๔๗ สมัยรัชกาลที่ ๕ 

เมื่อเลิกเรียนหนังสือที่วัดสระเกศ ฯ จบประถมปีที่ ๔ และเมื่ออายุครบบวชก็ได้บรรพชาที่วัดเดียวกันนี้เป็นเวลาพรรษาหนึ่ง แล้วเข้ารับราชการเป็นทหารเรือ ประจำกรมอู่ทหารเรือ มีหน้าที่เป็นช่างซ่อมและต่อเรือทุกประเภท 

เนื่องจากมีนิสัยรักดนตรีและขับร้อง จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงกล่อม โกศลศัพท์ (จอม สุนทรเกศ) ซึ่งเป็นนักร้องประจำอยู่แตรวงทหารเรือ สมัยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ นอกจากจะฝึกหัดขับร้องเรียนเสภาและสวดคฤหัสถ์แล้ว ยังติดตามไปร่วมการแสดงเป็นประจำ 

ในการเล่นเสภาก็ดี หรือการสวดคฤหัสถ์ก็ดี กลุ่มนักแสดงจะต้องซ้อมบ่อย ๆ จนชำนาญ คล่องแคล่ว โดยแต่ละคนมีหน้าที่ประจำตัว แต่เดิมนั้น หลวงกล่อมโกศลศัพท์ เป็นตัวพระ (ตัวตุ๊ย) และหลวงเพราะสำเนียง (ศุข ศุขวาที) เป็นตัวนาง ในปลายรัชกาลที่ ๖ หลวงเพราะสำเนียง ไปทำกิจการโรงพิมพ์ และเลิกราไป นายเรียมจึงได้เลื่อนขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทนหลวงเพราะสำเนียง เวลาออกแสดงการสวดคฤหัสถ์ จึงมีกลุ่มปฏิบัติหน้าที่ดังนี้  

หลวงกล่อมโกศลศัพท์ (จอน) เป็น คอหนึ่ง  

นายดิน (คลองบางหลวง) เป็น คอสอง  

นายนิล (ตัวตุ๊ย) เป็น ตัวพระ  

นายเรียม เป็น ตัวนาง  

การออกสวดคฤหัสถ์สมัยนั้น ส่วนใหญ่รับงานในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง เดินทางโดยเรือหรือรถไฟเป็นพื้น ได้ค่าแรงโดยเฉลี่ยประมาณคืนละ ๒-๖ บาท  บางงานเสร็จสวดคฤหัสถ์แล้ว  เจ้าภาพขอฟังเสภาต่อ หรือขอฟังเพลงตับเพลงเถาต่อ ก็ได้รางวัลเป็นพิเศษเพิ่มขึ้น เพลงตับที่มีผู้นิยมขอฟังสมัยนั้น ต้องร้องได้ขึ้นใจ มีอาทิ ตับจูล่ง  ตับลักษณวงศ์  ตับพระลอ เป็นต้น  จนถึงบางครั้งต้องรัดเครื่องออกรำด้วย  ถ้ามีงานแถมบางคืนได้ถึง ๑๖ บาท  

นายเรียม ได้รับการครอบวิชาดนตรีจาก หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และครอบวิชาโขนละคร โดย หลวงวิลาศวงงาม  แต่มิได้รับการมอบให้ทำพิธีไหวั ครู 

เมื่อเริ่มมีหนังญี่ปุ่นเข้ามาฉาย และตามงานวัดเกิดนิยมลิเก งานด้านสวดคฤหัสถ์ก็ลดลง ประกอบกับหลวงกล่อมโกศลศัพท์เข้าสู่วัยชรา จึงหยุดรับงาน แล้วในที่สุดวงก็แตก นายเรียมก็หยุดงานการแสดงตั้งแต่หลวงกล่อมโกศลศัพท์ตาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็นต้นมา  ตำรับตำราที่จดไว้ก็สูญหาย เนื่องจากการย้ายบ้านหนีภัยสงคราม  

ใน พ.ศ. ๒๕๒๖ นายเรียมอุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่  ณ วัดประยูรวงศาวาสเป็นพระภิกษุชราอายุ ๗๙ ปี พอมีแรงเดินออกไปบิณฑบาตได้ในระยะทางใกล้ ๆ ได้เลิกเล่นสักวา  เสภา และสวดคฤหัสถ์ มา ๓๐ ปี และจดจำบทสวดเก่า ๆ ไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่พยายามนึก แต่เนื่องจากแต่ก่อนใช้จดจำกันไว้  เมื่อไม่ได้ใช้มานานจึงเลือนไปหมด  ท่านมีบุตรชายหนึ่งคนชื่อ บุญชัย รุ่งสีทอง มีความสามารถทางดนตรีพอสมควร แต่เป็นดนตรีสากล

 

พูนพิศ อมาตยกุล

(เรียบเรียงจาก การสัมภาษณ์ พระภิกษุเรียม รุ่งศรีทอง)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.