คุณหญิงรามบัณฑิตสิทธิเศรณี (พ.ศ. ๒๔๓๘-๒๔๙๓)

คุณหญิงรามบัณฑิตสิทธิเศรณี (พ.ศ. ๒๔๓๘-๒๔๙๓)

คุณหญิงรามบัณฑิตสิทธิเศรณี

(พ.ศ. ๒๔๓๘-๒๔๙๓)

 

คุณหญิงรามบัณฑิตสิทธิเศรณี นามเดิมว่า นางสาวเยี่ยม ณ นคร เป็นบุตรีของหลวงเทพอาญา (สิงห์ ณ นคร) และนางเขียน ณ นคร เกิดเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๘ ที่ตำบลบางลำพูล่าง ธนบุรี

การศึกษาชั้นต้น ได้ถวายตัวเข้าไปอยู่ในราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยอยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอรทัยเทพกัญญา จนกระทั่งอายุได้ ๑๐ ปี จึงได้ย้ายมาอยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ จนอายุได้ ๑๕ ปี จึงได้สมรสกับพระรามบัณฑิตสิทธิเศรณี มีบุตรชาย ๓ คน คือ นายสมนึก นายอารีย์ และนายบัณฑิต

ระยะเวลา ๕ ปี ที่คุณหญิงฯ อยู่ในพระอุปถัมภ์ของ กรมพระสุทธาสินีนาฎนั้น คุณหญิงได้ฝึกหัดขับร้องเพลงไทย เป็นศิษย์ของหม่อมสุด หม่อมศิลา หม่อมคร้าม หม่อมส้มจีน เฒ่าแก่จีบ และขุนเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน ยศขณะนั้น) จนสามารถบรรเลงมโหรีและขับร้องได้ดี เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต คุณหญิงได้ทำหน้าที่ “นางร้องไห้” ขับร้องบทเพลงสำหรับนางร้องไห้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททุกวัน นับเป็นนางร้องไห้รุ่นสุดท้ายก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิก ในเวลาต่อมา

คุณหญิงรามบัณฑิตสิทธิเศรณี เป็นนักร้องเสียงดี ร้องเพลงได้ไพเราะ ชัดเจนและเสียงดัง เป็นนักร้องรุ่นเดียวกับ เจ้าจอม ม.ร.ว.  สดับ ในรัชกาลที่ ๕

ประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๐ คุณหญิงได้ร้องเพลงอัดแผ่นเสียงกับบริษัท Palophone werbo A.G. Berlin เป็นแผ่นเสียงตราพาโลโฟน ใช้ชื่อในการขับร้องว่า “เศรณี”  เพลงชุดแรกที่อัดเสียงครั้งนี้คือ เพลงดาวทอง และได้อัดเสียงชุดที่สอง คือ เพลงตับเรื่องเงาะป่า พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕

ต่อมาพระยารามบัณฑิต ฯ เห็นว่าสมควรทำแผ่นเสียงขึ้นเอง จึงได้ทำสัญญากับบริษัทดังกล่าว ใช้ชื่อว่า “แผ่นเสียงเศรณี”  มีตราเป็นรูปอุณาโลม รุ่นแรก ๆ พิมพ์บนกระดาษสีเขียว ตัวหนังสือสีทอง เรียกว่า แผ่นหน้าเขียว เพลงรุ่นนี้ได้แก่ เขมรไทรโยค แขกบรเทศ  แขกพราหมณ์ ลีลากระทุ่ม และแขกมอญ คุณหญิงได้มอบให้บุคคลต่าง ๆ เป็นที่นิยมและหาซื้อกันมาก คุณหญิงจึงได้ทำแผ่นเสียงเศรณีขึ้นอีกชุดหนึ่ง ชุดนี้พิมพ์ลงบนกระดาษสีเหลือง เรียกว่าแผ่นหน้าเหลือง เพลงชุดนี้เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ และเพลงสำคัญ ๆ หลายเพลง เช่น เพลงแขกลพบุรี ทยอยนอก จระเข้หางยาว บุหลัน ปลาทอง และพระอาทิตย์ชิงดวง เป็นต้น นับเป็นแผ่นเสียงอัดด้วยไฟฟ้าที่ดีที่สุดในสมัยนั้น ใช้ออกอากาศทางสถานีวิทยุเป็นประจำ

คุณหญิงรามบัณฑิตสิทธิเศรณี จึงเป็นผู้เผยแพร่ดนตรีไทยที่สำคัญผู้หนึ่ง ท่านได้ป่วยเป็นโรคเนื้องอกในช่องท้องและถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม บรรจุอัฐิที่วัดสระปทุม กรุงเทพมหานคร

 

วชิราภรณ์ วรรณดี

(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของ นายแพทย์พูนพิศ  อมาตยกุล)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.