จ.ส.อ.ยรรยง โปร่งน้ำใจ (พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๕๒๓)

จ.ส.อ.ยรรยง โปร่งน้ำใจ (พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๕๒๓)

จ.ส.อ.ยรรยง โปร่งน้ำใจ

(พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๕๒๓)

 

จ.ส.อ. ยรรยง โปร่งน้ำใจ เป็นชาวอยุธยา เดิมชื่อ คลอง เกิดเมื่อเดือน ๓ ปีมะโรง ตรงกับเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ที่ตำบลวังเดิม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อ อุ้ย มารดาชื่อ น้อม เป็นนักแสดงละคร สมรสกับ นางสาวสะอาด อ๊อกกังวาล นักร้อง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ มีบุตรธิดา ๔ คน คือ ร.ท. พิสิทธิ์ นางอุษา แสงไพโรจน์ นางฉันทนา วรชินา และนายองอาจ โปร่งน้ำใจ บุตรธิดาทุกคนประกอบอาชีพโดยใช้วิชาดนตรีและละครที่ได้รับถ่ายทอดจากบิดามารดา จ.ส.อ. ยรรยงค์ ถึงแก่กรรมด้วยโรคปอดชื้นและมีอาการทางสมองแทรก เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๓

ในวัยเยาว์ ขณะที่ จ.ส.อ. ยรรยงค์ ติดสอยห้อยตามบิดามารดาซึ่งมีอาชีพแสดงละครไปตามที่ต่าง ๆ นั้น ท่านสนใจดูบทตลกในละครเป็นพิเศษจนอายุได้ ๘ ปี ยายของท่านเกรงว่าจะไม่มีความรู้ติดตัว จึงขอร้องให้เพื่อนช่วยพาตัวไปฝากหลวงเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ซึ่งต่อมาได้เป็น พระยาเสนาะดุริยางค์ และด้วยเหตุบังเอิญ จ.ส.อ. ยรรยงค์ ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ พาทยโกศล) อยู่ที่บ้านหลังวัดกัลยาณมิตร โดยที่จางวางทั่ว พาทยโกศล บุตรชายของหลวงกัลยาณ์ ฯ เป็นผู้สอนวิชาการดนตรีให้

จ.ส.อ. ยรรยงค์ เริ่มเรียนฆ้องและเครื่องดนตรีอื่น ๆ ตามระเบียบวิธีของดนตรีไทย ต่อมาจางวางทั่ว ฯ เห็นว่า มีหน่วยก้านในการตีเครื่องหนังดีกว่าอย่างอื่น จึงได้ถ่ายทอดวิชาเครื่องหนังและเครื่องประกอบจังหวะอื่น ๆ ให้เป็นอย่างดี แล้วยังพาตัวไปฝากให้เรียนกับพระพิณบรรเลงราช (แย้ม ประสานศัพท์) ซึ่งเป็นนักตีกลองมือหนึ่งในสมัยนั้น จ.ส.อ. ยรรยงค์ ได้รับถ่ายทอดเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง และหน้าทับกลองทุกประเภทไว้อย่างละเอียด เป็นคนตีเครื่องหนังฝีมือดีที่สุดของวงพาทยโกศลที่ไม่มีใครเทียบได้

ในการประชันวงปี่พาทย์ที่วังลดาวัลย์ ใน พ.ศ. ๒๔๗๓ จ.ส.อ. ยรรยงค์ตีกลองประกอบการร้องและบรรเลงเพลงได้ดีเป็นพิเศษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินจากที่ประทับ ตรัสชมเชยแล้วแจกรางวัลโดยทรงคล้องพวงมาลัยพระราชทาน เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นสิ่งที่ จ.ส.อ. ยรรยงค์ ปลาบปลื้มใจเป็นล้นพ้น

ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ จ.ส.อ. ยรรยงค์ ได้สมัครเข้ารับราชการ สังกัดกองดุริยางค์กองทัพบก มีหน้าที่เล่นดนตรีในกรมกองทหารต่าง ๆ อยู่เสมอ ระหว่างพักการแสดง มีการเล่นจำอวดสลับฉากร่วมกับพรรคพวกซึ่งตั้งเป็นคณะชื่อว่า “คณะดอกจันทน์ ต.ว.” จางวางทั่ว ได้ส่งคณะตลกชุดนี้ ไปหัดเสภาตลกเพิ่มเติมกับหลวงกล่อมโกศลศัพท์ (จอน สุนทรเกศ) จนกระทั่งมีชื่อเสียงเลื่องลือ

นอกจากการแสดงตลกอย่างธรรมดาแล้ว ยังชอบแสดงตลกประกอบดนตรีไทย ซึ่งแปลกจากแนวของตลกคนอื่น ๆ ด้วย  จ.ส.อ. ยรรยงค์ รักการแสดงตลกเป็นชีวิตจิตใจ และใช้ชื่อในการแสดงว่า “ยรรยง จมูกแดง” มีผลงานปรากฎอยู่ในภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง และแสดงมาจนถึงวัยชรา

นอกเหนือจากงานในหน้าที่ราชการและงานแสดงตลกแล้ว จ.ส.อ. ยรรยงค์ ยังไปร่วมตีเครื่องหนังกับวงพาทยโกศลมิได้ขาด ตลอดจนได้ออกงานอื่น ๆ อีกมาก  ทั้งงานระดับวังเจ้านายและระดับชาวบ้าน พ.ศ. ๒๕๐๗  ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ซึ่งติดใจฝีมือตีกลองของท่าน ได้จัดให้ท่านแสดงฝีมือการตีกลองแบบต่าง ๆ ร่วมกับนักดนตรีคนอื่น ๆ อัดแผ่นเสียงเผยแพร่ไปทั่วโลก  เรียกชื่อแผ่นเสียงชุดนี้ว่า Drums of Thailand

ฝีมือการตีเครื่องหนังของ จ.ส.อ. ยรรยงค์ ถึงพร้อมด้วยคุณลักษณะหลายประการ คือ ท่าทางดี รอบรู้เพลงการมาก วิธีตีชวนติดตาม และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ สอดใส่ชีวิตจิตใจและอารมณ์ลงในเสียงกลองได้อย่างดีเยี่ยม จึงนับว่าสมควรได้รับการยกย่องว่าเป็นคนเครื่องหนังฝีมือดีที่สุดคนหนึ่งของวงการดนตรีไทยในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 

อารดา กีระนันทน์

(เรียบเรียงจาก ประวัติ จ.ส.อ. ยรรยง โปร่งน้ำใจ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พ.ศ. ๒๕๒๓)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.