เรือโทยรรยง แดงกูร ร.น. (พ.ศ. ๒๔๖๐-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

เรือโทยรรยง แดงกูร ร.น. (พ.ศ. ๒๔๖๐-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

เรือโทยรรยง แดงกูร ร.น.

(พ.ศ. ๒๔๖๐-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

 

ครูยรรยง แดงกูร เดิมชื่อ ทองบุ เป็นบุตรของนายเผือกและนางชุ่ม แดงกูร เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ณ ตำบลบางลำพูล่าง อำเภอคลองสาน กรุงเทพ ฯ บิดาเป็นทนายความและเป็นนักดนตรีไทยที่มีความสามารถ  ได้ถ่ายทอดความรู้ในด้านดนตรีให้แก่บุตรเป็นอย่างดี  มีพี่น้อง ๗ คน  เป็นนักดนตรี ๔ คน คือ ร.ท.ยรรยง นายทองอาบ นายมนัส และนางสายทิ้ง สินธุอุสาห์

เริ่มเรียนหนังสือชั้นประถมที่โรงเรียนวัดเศวตฉัตร ในขณะเดียวกันก็หัดดนตรีไทยจากบิดาตั้งแต่อายุ ๗ ปี เรียนจบชั้นประถมปีที่ ๓ แล้ว ได้ติดตามบิดาไปเล่นดนตรีตามที่ต่าง ๆ จนมีความชำนาญในการขับร้อง สีซอด้วง ซออู้ และเป่าขลุ่ย  

เมื่ออายุครบบวช ได้บวชอยู่ที่วัดอนงคาราม ๑ พรรษา  มีสมเด็จพระโพธิวงศ์เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วต่อจากนั้นได้ไปสมัครเข้าเป็นนักร้องเพลงไทยที่กองดุริยางค์กองทัพเรือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ ต่อมาได้ทำหน้าที่เป็นคนสีไวโอลิน และคนเป่าปี่โอโบ ของกองดุริยางค์กองทัพเรือ  เป็นผู้อำนวยเพลงวงจุลดุริยางค์กองทัพเรือ จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายทหาร และในปีต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้รับยศเรือโท 

ครูยรรยงเริ่มต้นหัดเป่าขลุ่ยเพียงออกับบิดาด้วยเพลงจระเข้หางยาว เมื่ออายุได้ ๗ ปี เมื่อจบเพลงจระเข้หางยาวแล้ว จึงต่อเพลงแป๊ะ ๓ ชั้น กับเพลงเถาอื่น ๆ  ต่อมาได้ต่อเพลงเดี่ยวขลุ่ยสารถี  นกขมิ้น และพญารำพึง จาก ครูชิน ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา  แล้วต่อเดี่ยวขลุ่ย เพลงพญาโศก  แขกมอญ  ลาวแพน  กราวใน จากจ่าสิบเอกทรัพย์  นุตสถิตย์ เมื่อมาอยู่กองดุริยางค์กองทัพเรือ ได้หัดเดี่ยวปี่โอโบ ตามโน้ตที่ท่านจางวางทั่วได้เขียนไว้หลายเพลง อาทิ ทะแย กราวใน เชิดนอก และลาวแพน เป็นต้น ได้ต่อซอด้วงและซออู้ จากครูอนันต์  ดูรยชีวิน บุตรของหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) 

ในด้านความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ทางด้านดนตรีไทย ได้เริ่มสอนเพลงไทยให้ศิษย์รุ่นน้องตั้งแต่อายุได้ ๒๒ ปี โดยสอนอยู่ในกองดุริยางค์กองทัพเรือ ต่อมาได้เป็นครูสอนดนตรีที่โรงเรียนนายเรือ  โรงเรียนนายเรืออากาศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมทหาร  รวมทั้งได้เคยสอนให้แก่พันเอกชูชาติ พิทักษากรด้วย นอกจากนี้ยังได้ต่อเพลงให้แก่ นายสุรชัย แดงกูร ผู้เป็นบุตร จนสามารถเป่าขลุ่ยและเดี่ยวเพลงต่าง ๆ ได้ดี 

ความสามารถทางด้านวิชาการของท่านนั้น เป็นผู้รู้โน้ตเพลง สามารถเขียนถ่ายทอดโน้ตเพลงทุกแบบไปมาหากันได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่ว่าจะเป็นโน้ตตัวเลข ๑ ๒ ๓ ๔ หรือโน้ตแบบตัวหนังสือ ๙ ตัว จนถึงโน้ตสากล และสามารถแยกเสียงประสานได้พอสมควร ครูยรรยง ได้แสดงความสามารถในการเดี่ยวขลุ่ยครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๗ ปี ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ที่วังสราญรมย์ พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้บันทึกเสียงเพลงเดี่ยวซอด้วง ซออู้  ขลุ่ย และไวโอลิน ไว้มาก รวมทั้งบันทึกเทปเสียงชุด สามขลุ่ยไทย ซึ่งท่านเป่าร่วมกับครูเทีบบ คงลายทอง และนายสุรชัย แดงกูร เคยได้รับรางวัลชนะเลิศเป่าขลุ่ย ณ สถานีวิทยุ ว.ป.ถ. เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖  

ครูยรรยง มีภรรยาชื่อ สวาท  แต่งงานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ และแต่งงานครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ กับนางหงส์  มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น ๘ คน เป็นนักดนตรีและนักร้อง ๕ คน คือ จ่าเอกชาญชัย  พันจ่าเอกณรงค์  นายสุรชัย นายโชคชัย และนางวันดี  บำเรอรักษ์  คนหลังนี้เป็นนักร้องเพลงไทยสากล   

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ครูมีอายุได้ ๖๕ ปี เป็นนักดนตรีในสังกัดวงเสริมมิตรบรรเลง ได้อัดเสียงไว้กับวงเสริมมิตรบรรเลงนี้มาก  ทั้งฝึมือซออู้  ซอด้วง  ขลุ่ย และไวโอลิน  สอนดนตรีไทยอยู่ที่บ้านเลขที่ ๘๒๔/๑ ซอยสารภี ๓ ถนนเจริญนคร คลองสาน กรุงเทพมหานคร  ยังมีสุขภาพแข็งแรงดี และเล่นดนตรีไทยเป็นประจำ

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของ นายยรรยง แดงกูร)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.