สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (พ.ศ. ๒๓๖๒-๒๔๒๙)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (พ.ศ. ๒๓๖๒-๒๔๒๙)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์

(พ.ศ. ๒๓๖๒-๒๔๒๙)

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๓๖๒ สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ทรงเป็นอัจฉริยบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทย หนังสือโคลงเฉลิมพระเกียรติได้บรรยายไว้ว่า ทรงเชี่ยวชาญทางวิชาการมากมายหลายสาขา ทรงเชี่ยวชาญในการคลัง การปกครอง ทรงรอบรู้ในราชประเพณีและการศาสนา  การคล้องช้าง การจัดการกรมพระคชบาล ทรงเป็นช่างศิลป์  ทรงเป็นกวี  ทรงเป็นนักดนตรี ฯลฯ มากมายสุดจะพรรณนาได้  

ในวงการดนตรีไทยเรานั้น เรารู้จักบทมโหรีพระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ อันเป็นบทเพลงไทยที่ไพเราะมาก  ใช้ขับร้องเป็นเพลงตับ ๕ เพลงด้วยกันคือ  นางนาค  พัดชา  ลีลากระทุ่ม  โล้ และกราวรำมอญ  เพลงทุกเพลงนี้บรรเลงติดต่อกันได้แนบเนียนสนิทสนม ด้วยมีเสียงคล้องจองกัน ฟังเมื่อไหร่ก็ไพเราะจนติดใจ แต่ละเพลงบอกชื่อเพลงไว้ด้วย ดังจะขอยกตัวอย่างเนื้อร้องเพลงลีลากระทุ่ม  ดังนี้  

เพลงนี้หรือชื่อว่าลีลากระทุ่ม  ฟังก็ชุ่มชื่นเพราะดูเหมาะเหม็ง  

นี่ใครหัดจัดสรรมาบรรเลง               ให้วังเวงหวานหูมิรู้วาย  

ดังเสียงน้องพร้องเพราะเสนาะล้ำ    เหมือนน้ำอมฤตสาดไม่ขาดสาย  

ทั้งลีลามารยาทล้วนนาฏกราย        สมเหมือนหมายชื่อเพลงบรรเลงเอย 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา ฯ ทรงมีปี่พาทย์วงใหญ่กับวงมโหรีอีก ๑ วง ซึ่ง ม.ร.ว. เทวาธิราช ป. มาลากุล ได้เคยเห็นมา ทั้งยังรู้จักคนร้องคนระนาดเอก คนขลุ่ย ประจำวงด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนสีซอสามสายประจำวงมโหรี คือ หม่อมสุ่น ผู้เป็นหม่อมมารดาของ ม.ร.ว. เทวาธิราช ป. มาลากุล เอง  

หม่อมสุ่นนั้น ได้เคยสีซอสามสายคันที่เป็นซอคู่พระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ มาก่อน โดยที่ท่านยืนยันว่า มีซอทรงอยู่ถึง ๔ คัน มีทั้งที่เป็นทวนมุก  ทวนงา  ทวนถม และทวนนาค  แม้แต่หย่องซอสามสายก็ทรงแกะด้วยพระหัตถ์อย่างงดงาม  ซอทรงของสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ นี้ ค่อนข้างหนักสียาก  ถึงกระนั้นหม่อมสุ่นก็ยังเคยสีถวายหน้าพระที่นั่งเฉพาะพระพักตร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมกุฎราชกุมารประเทศรัสเซีย ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓  

จากคำบอกเล่าของ ม.ร.ว. เทวาธิราช ป. มาลากุล  ได้ความว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ โปรดซอสามสายมาก และทรงใฝ่พระทัยฝึกคนซอสามสายให้หัดสีด้วยพระองค์เองอีกด้วย และซอสามสายคู่พระหัตถ์ของท่านนั้น ได้ถวายเป็นของหลวงเมื่อท่านสิ้นพระชนม์แล้ว  

สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ  สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๙ มีพระชนมายุรวม ๖๗ พรรษา

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระยาชาติเดชอุดม (โป๊ะ มาลากุล) ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ และข้อมูลจากการสัมภาษณ์ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.