พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต) (พ.ศ. ๒๔๓๑-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต) (พ.ศ. ๒๔๓๑-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต)

(พ.ศ. ๒๔๓๑-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต)  เป็นนักระนาดฝีมือยอดเยี่ยมคนหนึ่งแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  เป็นบุตรของ นายแก่น นางช้อย สุวาทิต  เกิดที่บ้านเลขที่ ๑๐๓ ตำบลบางขุนนนท์ บางกอกน้อย กรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๘ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๑ ได้ร่ำเรียนวิชาดนตรีมาจากบ้านของบิดาตั้งแต่เด็ก และต่อมาได้เป็นศิษย์ของพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)  

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ อายุ ๑๗ ปี ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร รับพระราชทานเงินเดือนขั้นต้น เดือนละ ๒๐ บาท เป็นคนระนาดเอกมาตั้งแต่ครั้งนั้น ได้ชื่อว่าตีระนาดได้เพราะมาก เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก  เมื่อเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓  มีการปูนบำเหน็จข้าราชการ และข้าหลวงเดิมครั้งแรก ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนเพลงไพเราะ” เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ขึ้นเงินเดือนรวดเดียวจาก ๒๐ บาท เป็น ๖๐ บาททันที  อีกสองปีต่อมา ในวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้เลื่อนเป็น “หลวงเพลงไพเราะ” รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๑๐๐ บาท และเป็น “พระเพลงไพเราะ” เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐  รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๒๒๐ บาท และในวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นปลัดกรมพิณพาทย์หลวง คู่กับ พระประดับดุริยกิจ รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๑๕๐ บาท อันเป็นตำแหน่งสุดท้ายในรัชกาลที่ ๖  

พระเพลงไพเราะได้ทำหน้าที่เป็นคนตีระนาดต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ จนย้ายมาประจำกรมศิลปากรในภายหลัง เป็นที่เลื่องลือมากว่าตีระนาดเสียงดี บทเพลงดี ฝีมือเรียบเท่ากันทั้งซ้ายขวา  แม่นเพลง และเป็นคนใจเย็น  มีความรู้ในเพลงการมาก  เป็นที่เคารพนับถือมากที่สุดคนหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๔๗๕ ได้ร่วมงานบันทึกเสียงกับราชบัณฑิตสภาโดย ม.จ.หญิงพัฒนายุ ดิศกุล พระธิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นแม่กองจัดการบันทึกเสียง และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็โปรดปรานว่าตีระนาดดี ในระยะเดียวกันนี้ ได้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระกรุณาจัดการให้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลศิริราช และทรงเป็นเจ้าของไข้  

พระเพลงไพเราะแต่งงานกับ นางสาวลมัย ลูกสาว นายฝ่อเต็ง และนางหงิม ซึ่งเป็นชาวจังหวัดชลบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ มีบุตรด้วยกันหลายคน ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครเป็นนักดนตรีเลย  

พระเพลงไพเราะได้แต่งเพลงสร้อยสนสามชั้น และทางขับร้อง ท่านเองมีเสียงดีและร้องเพลงได้เช่นกัน  ทางระนาดเพลงบุหลันสองชั้นของท่าน ยังใช้ตีกันมาจนถึงทุกวันนี้ ท่านได้ร่วมงานกับเจ้าคุณครู คือ พระยาประสานดุริยศัพท์  บันทึกแผ่นเสียงไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นจำนวนมาก  โดยเป็นผู้ตีระนาดบันทึกเสียงเพลงจากละครดึกดำบรรพ์เรื่องต่างๆ กับบริษัท โอเดี้ยน ตราตึก มีหลวงเสียงเสนาะกรรณ (พัน มุกตวาภัย) เป็นผู้ขับร้องฝ่ายชาย และยังมีนักร้องหญิงร่วมร้องเพลงด้วยอีกหลายคน อาทิ ครูท้วม ประสิทธิกุล และนางเล็ก ศุขโสต เป็นต้น  

แผ่นเสียงชุดที่กล่าวนี้ มีบทชุดใช้ชื่อวงดนตรีว่า “วงพิณพาทย์พระเพลงไพเราะ” มีเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนเข้าห้องนางวันทอง ร่วมกับหลวงเสียงเสนาะกรรณ และหมื่นขับคำหวาน  

สมัยกรมศิลปากรยังอยู่ท้ายวัง พระเพลงไพเราะ เป็นหัวหน้าวงดนตรี ที่เรียกว่า พิณพาทย์ฤาษี ท่านเป็นคนตีระนาดเอก อาจารย์มนตรี  ตราโมท ตีระนาดทุ้ม หมื่นตันตริการเจนจิตร เป่าขลุ่ย และหลวงสร้อยสำเนียงสนธิ์  ตีฆ้อง เป็นต้น ระยะนี้ท่านต่อเพลงให้นักร้องสตรีหลายคน อาทิ  แช่มช้อย  ดุริยพันธุ์  เฉลา วาทิน และเจริญใจ สุนทรวาทิน   มีเพลงเถาหลายเพลงที่ท่านทำขึ้น เช่น สุดใจเถา  กระบอกเถา และม้าย่องสามชั้น เป็นต้น  ศิษย์อื่น ๆ ที่ค้นชื่อมาได้มี  นายจิตร  เพิ่มกุศล และนายผ่อน เป็นต้น  

พระเพลงไพเราะ ถึงแก่กรรมด้วยโรคกระเพาะอาหาร ได้รับพระราชทานเพลิงศพ ที่วัดสุวรรณคีรี (วัดขี้เหล็ก) ยังค้นวัน เดือน ปี ที่ท่านถึงแก่กรรมไม่ได้

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติ กรมมหรสพ สำนักพระราชวัง และจากการสัมภาษณ์ อาจารย์มนตรี ตราโมท อาจารย์แช่มช้อย ดุริยพันธุ์ และอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน)

 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.