หม่อมจันทร์ กุญชร ณ อยุธยา (พ.ศ. ๒๔๒๔-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

หม่อมจันทร์ กุญชร ณ อยุธยา (พ.ศ. ๒๔๒๔-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

หม่อมจันทร์ กุญชร ณ อยุธยา

(พ.ศ. ๒๔๒๔-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

 

หม่อมจันทร์ เป็นชาวตำบลมหาวงษ์ จ.สมุทรปราการ บิดามารดาเป็นชาวนา ชื่อนายโก๋และนางหน่าย เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๒๔ มีพี่สาวชื่อ เนย ทั้งสองคนพี่น้องได้มาอยู่ที่บ้านเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) ตั้งแต่ยังเล็ก ได้ฝึกหัดนาฎศิลป์ กับครูวันและหม่อมเข็ม กุญชร ณ อยุธยา รวมทั้งต่อเพลงร้องสำหรับการเล่นละครใน และละครดึกดำบรรพ์ ต่อมาได้เป็นหม่อมของเจ้าพระยาเทเวศร์ ฯ ทั้ง ๒ คน 

พี่สาวของหม่อมจันทร์ที่ชื่อ เนย นั้นเก่งมากทั้งทางขับร้องและรำละคร ทั้ง ๆ ที่อ่านหนังสือไม่ออก แต่มีความจำดี สามารถจำบทร้องได้แม่นยำมาก เสียงดี มีบุตรีกับเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ  ๓ คน คือ ม.ล.ปาด ม.ล.แขก และ ม.ล.ไข่ กุญชร เมื่อมีบุตรจะต้องเลี้ยงดู ก็เลยเลิกเล่นละครและขับร้อง หม่อมเนยเป็นผู้มีอุปนิสัยดี เป็นที่เคารพนับถือของบรรดาลูกของเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ ทุกคน 

หม่อมจันทร์ มีบุตรชายกับท่านเจ้าพระยาฯ เพียงคนเดียว คือ พลโท ม.ล.ขาบ กุญชร อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเกิดเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๔๘ ม.ล.ขาบได้ถ่ายทอดความเป็นศิลปินเพลงไทยจากมารดาไว้มาก คือ สามารถบรรเลงขับร้อง และแต่งเพลงได้ ตลอดจนได้ส่งเสริมให้เกิดวงดนตรีไทยของกรมประชาสัมพันธ์ขึ้นและม่ชื่อเสียงมาจนทุกวันนี้ 

ความสามารถของหม่อมจันทร์นั้น เลื่องลือกันว่า เล่นละครดึกดำบรรพ์ ทั้งร้อง ทั้งรำ เป็นตัวคาวีได้ดีเยี่ยม ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวสองสี พูดช้า ๆ เนิบ ๆ ได้ร่วมงานการขับร้องและการแสดงพร้อม ๆ กับ หม่อมเจริญ และหม่อมมาลัย มาตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาเทเวศร์ฯ กราบถวายบังคมลาออกจากราชการเพราะชราภาพการเล่นละครและดนตรีก็ลดลง หม่อมจันทร์ ได้ออกจากวังบ้านหม้อ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ ส่วน ม.ล.ขาบ ยังคงอยู่กับท่านบิดาซึ่งได้ย้ายไปอยู่ที่ตำบลคลองเตย หม่อมจันทร์ได้เข้าไปอยู่ในราชสำนักของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชชนนี ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ แล้วย้ายมาเป็นนักร้องอยู่ในกรมมหรสพ มีบ้านอยู่ในสวนมิสกวัน นับเป็นนักร้องชั้นผู้ใหญ่ในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงชมเชยว่า เป็นคนเสียงเพราะ พระสุจริตสุดา พระสนมเอกได้ขอตัวท่านมาเป็นครูสอนขับร้องให้แก่นักร้องในวงดนตรี คณะนารีศรีสุมิตร หม่อมจันทร์ จึงได้เป็นครูสอนขับร้องให้แก่ คุณนิภา อภัยวงศ์ และคุณแนบ เนตรานนท์ เป็นต้น 

นักร้องของกรมมหรสพสมัยเมื่ออยู่ในสวนมิสกวันนั้น นอกจากหม่อมจันทร์แล้ว ยังมีคุณทองอยู่ ศุขวาที คุณสาลี่ (ต่อมาเป็นภรรยาพระผไทสถาปิต สกุลสถาปิตานนท์) คุณจิ้มลิ้ม    สุเดชะ (หลานพระยาสุนทรเทพระบำ) และคุณทับทิมภรรยานายหรุ่ม อินทรนัฎ เป็นต้น หม่อมจันทร์นั้น เป็นนักร้องอาวุโสที่สุด ในระยะนี้เองท่านได้แต่งงานใหม่กับ ขุนนิมิตราชฐานช่างเขียนฝีมือดีของกระทรวงวัง มีบุตรี ๓ คน คือ แสงเดือน ศศิธร และจินตนา มีศศิธรคนเดียวที่ร้องเพลงได้ดี 

ผลงานของหม่อมจันทร์ สมัยอยู่สวนมิสกวัน คือ การบันทึกแผ่นเสียงร่วมกับวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เรื่องสังข์ศิลปชัย และมณีพิชัย มีนางเชื้อ ชลเกตุ เป็นลูกคู่ นอกจากนี้ก็มีเพลงเกร็ดอื่น ๆ เป็นเพลง ๓ ชั้นบ้าง แผ่นเสียงเพลงชุดนี้เป็นแผ่นของบริษัทโอเดี้ยน ตราตึก หน้าสีแดง ทั้งชุดมีราว ๒๔ แผ่น ประมาณว่าบันทึกเสียงระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๖๗-๒๔๖๘ ราว ๑ ปี ก่อนพระยาประสานดุริยศัพท์ถึงแก่กรรม นอกจากนี้ยังมีแผ่นสีดำตราดาวกับพระจันทร์ ร้องคู่กับหม่อมมาลัย เพลงคลื่นกระทบฝั่ง เป็นต้น 

อาจารย์มนตรี ตราโมท เล่าว่าหม่อมจันทร์อยู่ในสวนมิสกวัน จนถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วย้ายมาอยู่บ้านเช่าของพระยาอนิรุธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) และตัวอาจารย์มนตรี เคยต่อเพลงขับร้องในตับพรหมมาศและตับนาคบาศจากหม่อมจันทร์ด้วย 

หม่อมจันทร์ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่ออายุเกือบ ๗๐ ปี ยังค้นหาวันเดือนปีที่ถึงแก่กรรมไม่ได้

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของพลโท ม.ล.ขาบ กุญชร คำบอกเล่าของอาจารย์มนตรี ตราโมท และครูนิภา อภัยวงศ์)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.