พุ่ม โตสง่า (พ.ศ. ๒๔๔๑-๒๔๙๖)

พุ่ม โตสง่า (พ.ศ. ๒๔๔๑-๒๔๙๖)

พุ่ม โตสง่า

(พ.ศ. ๒๔๔๑-๒๔๙๖)

 

นายพุ่ม  โตสง่า  เป็นครูดนตรีไทยชาวอยุธยา เกิดเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๔๑  เป็นบุตรชายคนเล็กของนายอุไทย และนางเกลี้ยง โตสง่า  ได้ย้ายบ้านตามบิดา-มารดา เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ยังเล็ก  ต่อมาได้สมรสกับหญิงสาวเชื้อสายมอญ ชื่อ นางแม้น  มีบุตรชายหญิงรวม ๘ คน ชื่อ  พัก  สุทิน  ประพาส  รำภา  อัมพร  จุมพล  สุพจน์ และจ้อย  ลูกทั้ง ๘ คนนี้เล่นดนตรีไทยได้ทุกคน  

นายพุ่ม  โตสง่า เป็นนักตีระนาดฝีมือดี และเป็นคนแม่นเพลง  สามารถจำเพลงต่าง ๆ ได้มาก ทั้งแม่นปาก แม่นมือ แม่นตา และแม่นใจ  ท่านจึงเป็นครูดนตรีไทยที่มีศิษย์มาหาเสมอ  ในการเริ่มสอน ครูพุ่มจะเริ่มด้วยการให้ศิษย์ตีฆ้องใหญ่ก่อน เมื่อเป็นแล้วจึงอนุญาตให้เล่นเครื่องดนตรีชนิดอื่น (เฉพาะวงปี่พาทย์ ไม่มีการสอนเครื่องสาย) ตามหลักการสอนจากครูอุไทยผู้เป็นบิดา  

ศิษย์ของครูพุ่มที่สำคัญมีหลายคน ได้แก่ นายพัก  โตสง่า  นายสุพจน์  โตสง่า  นายสมบัติ เดชบรรลือ (คนปี่ กรมศิลปากร) นายช่อ อากาศโปร่ง (คนฆ้องใหญ่เทศบาลนครกรุงเทพฯ)  นายชงโค กลิ่นเฟื่อง (ปี่)   นายชิน กลิ่นเฟื่อง  กำนันปุ๋ย สัยวุธ (ระนาด) นายไสว ตาตะวาทิต  นายสมาน ขำประเสริฐ  นายจ่าง ชั้นบุญ นายโป๊ะ ชั้นบุญ  นายแสวง แห่งคลองพระยาสมุทร  นายบาง จากอยุธยา และนายเขียว จากตลิ่งชัน  โดยเฉพาะนายสุพจน์ (ปึ้ด) โตสง่า บุตรชายคนเล็ก เป็นผู้สืบทอดวิชาดนตรีจากครูพุ่มไว้มากที่สุด 

นอกจากครูพุ่ม จะเป็นนักดนตรีฝีมือดีแล้ว ยังเป็นช่างไม้ฝีมือเยี่ยมอีกด้วย  ท่านสร้างบ้านเองและสร้างเครื่องพิณพาทย์มอญ  พิณพาทย์ไทย ไว้ครบรวม ๓ วง ด้วยตนเองโดยตลอดตั้งแต่แกะลวดลาย ลงรักปิดทอง จนเสร็จบริบูรณ์  

ครูพุ่ม ถึงแก่กรรมด้วยโรคปอด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ รวมอายุได้ ๕๕ ปี

 

วชิราภรณ์ วรรณดี

(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล และคำให้สัมภาษณ์ของนายสุพจน์ โตสง่า)

 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.