พริ้ง กาญจนผลิน
(พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๕๒๘)
ครูพริ้ง กาญจนผลิน เป็นบุตรชายคนโตของหมื่นคนธรรพประสิทธิสาร (แตะ กาญนผลิน) และนางแหวว กาญจนผลิน เกิดเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ณ บ้าน ตำบลบางซื่อ อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร มีพี่น้องทั้งสิ้น ๕ คน หญิงชื่อ สอาด ชายชื่อ สนาน ชายชื่อ เสมียน หญิงชื่อ สมร และหญิงชื่อ สมัย
การศึกษาวิชาสามัญเริ่มศึกษาที่โรงเรียนวัดสร้อยทอง จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๖ สอบได้ชั้น ม.๑ ส่วนวิชาดนตรีเริ่มจับมือครั้งแรกกับครูหงส์ พาทยาชีวะ จนสามารถปฏิบัติได้ทั้งระนาด ฆ้อง และเครื่องหนัง พร้อมทั้งได้ศึกษาเพลงการต่างๆ จากท่านบิดาไปด้วยในเวลาเดียวกัน ต่อมาจึงได้เล่าเรียนวิชาเครื่องหนังเพิ่มเติมจาก พระพาทย์บรรเลงรมย์ (พิมพ์ วาทิน) พระประดับดุริยกิจ (แหยม วีณิน) และหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) จนมีความรู้ ความชำนาญทางเครื่องหนังเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบัน
ครูพริ้งเริ่มรับราชการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ในกรมปี่พาทย์และโขนหลวง กระทรวงวัง แล้วลาออก ครั้นต่อมาจึงกลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่งในตำแหน่งพนักงานแผนกดุริยางค์ไทย กองการสังคีต กรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ จนครบเกษียณอายุในตำแหน่งศิลปินโท แผนกดุริยางค์ไทย เมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๕ แต่ยังคงได้รับเชิญให้สอนนักศึกษาในวิทยาลัยนาฏศิลป็ กรมศิลปากร ต่อมาจนปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๒๖)
ความรู้ความสามารถทางดนตรีของครูพริ้งนั้นเป้นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปทั้งทางเครื่องหนังและความแตกฉานในเพลงการ แม้กรมศิลปากรสิ้นครูสอน วงฆ้องไปเสียคนหนึ่งก็ยังดีนักหนาที่มีครูพริ้ง กาญจนผลิน อยู่เป็นผู้อาวุโสอีกคนหนึ่ง เพลงการเก่า ๆ อันเป็นของโบราณแท้นั้นยังมีอยู่ที่ ครูพริ้งอีกเป็นอันมาก ทั้งประเภทหาที่อื่นไม่ได้ และประเภทหาที่ไหนไม่เหมือน เมื่อครั้งที่มีการบรรเลงเพลงในบทละครดึกดำบรรพ์เรื่องคาวีตอนเผาพระขรรค์ ซึ่งถือกันว่าเป็นยอดของการบรรเลงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ซึ่งสมบูรณ์พร้อมด้วยความวิจิตรบรรจงทั้งทางเครื่องและทางร้องนั้น ผู้บรรเลงทั้งหมดอันได้แก่ ครูพริ้ง ดนตรีรส ครูสอน วงฆ้อง ครูเทียบ คงลายทอง คุณหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) ครูอรุณ กอนกุล ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าผู้ที่จะแทนครูมิ ทรัพย์เย็น ซึ่งเพิ่งถึงแก่กรรมไปนั้นก็เห็นจะมีแต่ครูพริ้ง กาญจนผลิน เพียงคนเดียว ผลการบรรเลงในวันนั้นซึ่งเริ่มตั้งแต่โหมโรงแรกไปจนหมดตับ กินเวลาประมาณ ๓ ชั่วโมงมิได้มีสิ่งใดบกพร่องผิดพลาดจนนิดเดียว ทั้งที่ไม่มีการซ้อมล่วงหน้าแต่ประการใด แสดงให้เห็นถึงความแม่นยำมั่นคงเรียนจริงรู้จริงของ ครูพริ้ง กาญจนผลิน ยิ่งนัก นอกจากความสามารถทางดนตรีแล้วครูยังมีน้ำใจโอบอ้อมอารีเป็นที่สุด ผู้ที่มีปัญหาสงสัยเพลงการหน้าทับสิ่งไรไปหาครูเป็นไม่ผิดหวัง มีนักดนตรีท่านหนึ่งสงสัยหน้าทับม้าย่อง ทั้งที่ไม่เคยรู้จักครูมาก่อนเมื่อเข้าไปถามในขณะที่ครูปฏิบัติงานอยู่ในโรงละครแห่งชาติ ครูก็บอกให้เดี๋ยวนั้นตรงนั้นไม่มากเรื่องมากพิธีจนกระจ่าง นับว่าครูพริ้ง กาญจนผลิน เป็นปูชนียบุคคลอันควรแก่การบูชาในการสังคีตสยามได้ผู้หนึ่ง
ในด้านชีวิตครอบครัว ครูพริ้งสมรสกับนางสาวสอิ้ง พาทยชีวะมีบุตรธิดาทั้งสิ้น ๕ คน ดังต่อไปนี้
๑. ชาย ชื่อ สมพงษ์
๒. หญิง ชื่อ มณีรัตน์
๓. หญิง ชื่อ อุษา
๔. หญิง ชื่อ เจริญสุข
๕. หญิง ชื่อ ปิยะวรรณ
ครูพริ้ง กาญจนผลิน ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๒๘
พิชิต ชัยเสรี
(เรียบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติของ กรมศิลปากร และคำบอกเล่าของ ครูพริ้ง กาญจนผลิน)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.