ขุนพิไรรมยา (ภักดิ์ รัตนภาณุ) (พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๕๒๔)

ขุนพิไรรมยา (ภักดิ์ รัตนภาณุ) (พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๕๒๔)

ขุนพิไรรมยา (ภักดิ์ รัตนภาณุ)

(พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๕๒๔)

 

ขุนพิไรรมยา (ภักดิ์ รัตนภาณุ) เป็นบุตรพระพิเดชสงคราม (แก้ว รัตนภาณุ) และนางจำเริญ เกิดเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ ที่ตำบลพาหุรัด อำเภอพระนคร กรุงเทพฯ เรียนหนังสือที่โรงเรียนสวนกุหลาบ แล้วยังมาเรียนต่อที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศจนจบชั้นมัธยมปีที่ 3 เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กยาม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้เข้ารับราชการอยู่ในกองเครื่องสายฝรั่งหลวง รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๑๕ บาท ตำแหน่งพันเด็กชาโท แล้วเลื่อนเป็นพันจ่าเด็กชา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นหมื่นพิไรรมยา เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ เป็นมหาดเล็กสำรอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นขุนพิไรรมยา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้เลื่อนเป็นนักดนตรีพิเศษ รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๕๐ บาท นอกจากจะเล่นดนตรีฝรั่งแล้ว พระเจนดุริยางค์ ยังมอบหน้าที่เสมียนให้อีกตำแหน่งหนึ่ง มีตำแหน่งเป็นครูสอนดนตรีสากล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ ครั้นกรมมหรสพยุบเลิกไป ได้ย้ายมาอยู่แผนกดุริยางค์สากล กรมศิลปากร ได้ร่วมงานการบรรเลงประกอบการแสดงละครของหลวงวิจิตรวาทการ จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๖ จึงได้เป็นศิลปินตรี เงินเดือน ๙๐ บาท

ในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๙๗ ได้ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าแผนกดุริยางค์สากลจนถึงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘ จึงได้เป็นหัวหน้าแผนกดุริยางค์สากล ของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้ตำแหน่งศิลปินโทหัวหน้าแผนกฯ รับราชการมาจนถึงวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ จึงลาออกจากราชการ เพื่อรับบำนาญ

ขุนพิไรรมยา อุปสมบทที่วัดบวรนิเวศ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙  มีภรรยาชื่อ นางแข ทราบว่ามีบุตรชายคนหนึ่งเป็นนายตำรวจที่มีชื่อเสียงมาก สมัย พ.อ. เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ขุนพิไรรมยา (ภักดิ์ รัตนภาณุ) ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔

 

พูนพิศ อมาตยกุล

(เรียบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติของ กรมศิลปากร)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.