หมื่นพิไรรมยา (ชิต กมลวาทิน) (พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๖๑)

หมื่นพิไรรมยา (ชิต กมลวาทิน) (พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๖๑)

หมื่นพิไรรมยา (ชิต กมลวาทิน)

(พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๖๑)

 

หมื่นพิไรรมยา  (ชิต  กมลวาทิน) เป็นชาวจังหวัดอยุธยา  เกิด ณ บ้านเลขที่ ๕  ตำบลผักไห่ เมื่อเดือน ๓ ปีวอก ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๙ บิดามารดาเป็นชาวนา ชื่อนายรอดและนางเรือง หมื่นพิไรรมยา นับญาติเป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน) เกิดที่บ้านเดียวกัน  มีอายุอ่อนกว่าพระสรรฯ ๙ ปี  

พ.ศ. ๒๔๕๓ (อายุ ๑๔ ปี)  ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนประถมวัดชีโพน สอบไล่ได้ชั้นประถมปีที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ และหัดดนตรีอยู่กับครูชาวบ้านตำบลผักไห่  พระสรรเพลงสรวงได้นำมาถวายเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๖ เข้ารับราชการเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๗ อายุได้ ๑๘ ปี มีความสามารถในทางเครื่องสายอยู่ในเกณฑ์ดี แต่เนื่องจากกรมมหรสพพระยะนั้นต้องการคนเล่นเครื่องสายฝรั่ง  จึงถูกย้ายไปประจำวงเครื่องสายฝรั่งหลวง ในหน้าที่คนสีไวโอลิน  

ในวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ อายุ ๒๑ ปี ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นพิไรรมยา  มีความสามารถมาก แต่ร่างกายไม่สู้จะแข็งแรงนัก เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้ป่วยเป็นไข้และถึงแก่กรรมอย่างกระทันหัน  

บรรดาศักดิ์ พิไรรมยา นี้ ต่อมาได้พระราชทานอีกครั้งหนึ่ง ให้แก่ นายภักดิ์ รัตนภาณุ (สกุลเดียวกับหลวงพิเดชสงคราม, แก้ว)  นายภักดิ์ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นขุนพิไรรมยา  ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติกรมมหรสพ สำนักพระราชวัง และคำบอกเล่าของ อาจารย์มนตรี ตราโมท)

 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.