เจ้าเครือแก้ว ณ เชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๔๕๕-๒๕๔๖)

เจ้าเครือแก้ว ณ เชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๔๕๕-๒๕๔๖)

เจ้าเครือแก้ว ณ เชียงใหม่

(พ.ศ. ๒๔๕๕-๒๕๔๖)

 

เจ้าเครือแก้วเป็นบุตรีของ เจ้ามรกตและเจ้าเกี๋ยงคำ ณ เชียงใหม่ ท่านปู่มีนามว่าเจ้าดวงทิพย์ ณ เชียงใหม่ ท่านย่ามีนามว่า เจ้าแสนคำ ณ ลำพูน ท่านตาและท่านยายมีนามว่า เจ้าดวงทิพย์และเจ้าแว่นฟ้า ณ เชียงใหม่ เกิดเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๗ คน มีเจ้าพรรณคำ สุขุม เจ้าใจทิพย์ นาคนิกร ซึ่งตีขิมเก่งทั้งสองคน และอีกคนหนึ่งคือเจ้าดวงไทย ณ เชียงใหม่ ชำนาญด้านการขับร้อง 

เรียนหนังสือครั้งแรกที่ตำหนักพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ณ สวนดุสิต กรุงเทพฯ แล้วย้ายไปอยู่ในวังหลวง เมื่อพระราชชายาฯ กราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับไปประทับอยู่ที่เชียงใหม่ ได้ตามเสด็จกลับไปศึกษาต่อ ณ โรงเรียนคิดประดิษฐ์ จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓  

เนื่องจากมีความใกล้ชิดในพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในฐานะที่เป็นหลาน จึงได้เริ่มเรียนขับร้องจากจากพระราชชายาฯ มาตั้งแต่ที่กรุงเทพมหานครและยังได้มีโอกาสต่อเพลงขับร้องจากพระราชชายาฯ มาตั้งแต่ที่กรุงเทพมหานคร และยังได้มีโอกาสต่อเพลงขับร้องจากครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) หม่อมเจริญ พาทยโกศล ที่บ้านท่านจางวางทั่ว และต่อร้องกับคุณไพฑูรย์ กิตติวรรณ กับมีครูอีกท่านหนึ่งชื่อปาน สอนเพลงพื้นเมืองเชียงใหม่ประเภทซอเมือง จนมีความรู้ดีและได้เพลงมาก สามารถร้องเพลงหน้าพาทย์ประกอบโขนละครได้ทั้งหมดอีกด้วย 

ต่อมาได้กลับไปอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่และสมรสกับ ร.ต.อ.เจ้าพรหมา ณ เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้เปิดโรงเรียนและเป็นครูสอนขับร้องเอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ ชื่อโรงเรียน บ.ป.ท.วิทยาลัย ต่อมาจึงได้มาเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยนาฎศิลป จังหวัดเชียงใหม่ สอนเพลงพื้นเมืองตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นศิลปินที่มีความรู้ทางเพลงซอ และเพลงพื้นเมืองทางภาคเหนือมาก นับเป็นกำลังสำคัญในการถ่ายทอดวิทยาการด้านดนตรีพื้นเมืองให้แก่อนุชนรุ่นหลังเป็นอย่างยิ่ง 

เจ้าเครือแก้ว ณ เชียงใหม่ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์พื้นเมืองล้านนา) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖  

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก การสัมภาษณ์และแบบบันทึกข้อมูล ซึ่งให้รายละเอียดโดยเจ้าเครือแก้ว ณ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๕)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.