พิเทศพิไสย (ร่ำ อมาตยกุล) (พ.ศ.๒๔๒๐-๒๔๗๓)

พิเทศพิไสย (ร่ำ อมาตยกุล) (พ.ศ.๒๔๒๐-๒๔๗๓)

พิเทศพิไสย (ร่ำ อมาตยกุล)

(พ.ศ.๒๔๒๐-๒๔๗๓)

 

นางพิเทศพิไสย  เดิมชื่อ  ร่ำ  นามสกุลบุนนาค  เกิดที่บ้านในคลองบางหลวงของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ  เป็นบุตรีของพระนมเทศ  พระนมของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี  ในรัชกาลที่ ๕  นับเนื่องเป็นหลานของเจ้าจอมมารดาสำลี  ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   เมื่อเล็กได้เริ่มเรียนหนังสือที่บ้านแล้วเข้ามาอยู่ในวังหลวง   และเป็นข้าหลวงของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี  พระราชเทวี  นับว่าเป็นพระญาติผู้ใกล้ชิด แล้วกลับออกไปอยู่บ้าน ได้เรียนดนตรีไทยที่บ้านจนสามารถบรรเลงเครื่องสายโดยเฉพาะจะเข้นั้น  มีฝีมือจัดมาก 

คุณร่ำแต่งงานครั้งแรกกับญาติวงศ์เดียวกัน  ชื่อ  นายบุตร  บุนนาค    ต่อมานายบุตรได้เป็นที่หลวงศรีรัตนโกสินทร์   เจ้ากรมของสมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์   กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ พระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี  พระราชเทวี  และเป็นพระพี่นางของสมเด็จเจ้าฟ้า  กรมพระนครสวรรค์วรพินิตร่วมพระมารดาเดียวกัน  ด้วยเหตุนี้  คุณร่ำ  จึงเข้านอกออกในวังหลวงอยู่เสมอ  จนกระทั่งแต่งงาน  มีบุตรีคนหนึ่งชื่อ   รื่น  บุนนาค    ต่อมาได้เป็นข้าหลวงของ  เสด็จอธิบดี  กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุริณี ซึ่งเป็นพระภคินีของพระนางเจ้าพระราชเทวี    

คุณร่ำ  เลิกกับสามี  คือ  หลวงศรีรัตนโกสินทร์ (บุตร  บุนนาค) แล้วมาแต่งงานใหม่กับ หลวงพิเทศพิไสย(ประวัติ  อมาตยกุล) ซึ่งเป็นบุตรชายของพระยาธรรมสารนิติ(ตาด  อมาตยกุล) หลวงพิเทศพิไสย เป็นพี่ชายแท้ ๆ ของเจ้าจอมประคองในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ผู้เชี่ยวชาญซอสามสาย หลวงพิเทศพิไสย  มีวงดนตรีของตนเองที่บ้าน  ได้เล่นดนตรีกับคุณร่ำมาก่อนแต่งงานกัน  เมื่อแต่งงานแล้ว  มีบุตรธิดาด้วยกัน ๔ คน คือ  พันตรีหลวงโกศลสุรพรรค(กระบี่ อมาตยกุล) คุณหยิงสุนีสาย  สีหราชเดโชชัย  และคุณสำนึง  อมาตยกุล(ภรรยาร้อยโทจงกล  ไกรฤกษ์)  

เมื่อบุตรชายคนโตที่ชื่อ  กระบี่  เกิดนั้น  คุณร่ำเป็นคุณแม่ที่สมบูรณ์มาก  ในขณะเดียวกัน  ทูนกระหม่อมบริพัตร  ฯ   ก็ทรงมีพระโอรสองค์แรกประสูติเป็นพระองค์เจ้าชาย  คือ  พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุมภฎพงษ์บริพัตร(ต่อมาทรงกรมเป็นกรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต) คุณร่ำจึงได้รับเลือกให้เป็นพระนมของพระองค์เจ้าจุมภฎฯ  คุณร่ำจึงพาลูกชายคนโต เข้าไปอยู่ในวังบางขุนพรหม  ตั้งแต่ตำหนักใหญ่ยังสร้างไม่เสร็จ เวลาว่างจากงานก็ทำหน้าที่สอนเครื่องสายให้แก่คุณข้าหลวงในวังบางขุนพรหม   ทูนกระหม่อมบริพัตร ฯ  ทรงนับถือว่า เป็นนักจะเข้ฝีมือดี   แม่นเพลง  และ ดีดจะเข้ทั้งแรง  ทั้งไหว  ไม่เหมือนสตรีทั้งหลาย  นัยว่ามีรสมือในทางดนตรีดี  เป็นที่สบพระทัยมาก จนถึงร่ำลือว่า ดีดจะเข้ดีที่สุดสำหรับผู้หญิงในสมัยนั้น  

เมื่อหลวงพิเทศพิไสย  ถึงแก่กรรมแล้ว  คุณร่ำก็เลิกเล่นดนตรี  ต้องหาเลี้ยงลูกถึง ๔ คน  เมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนเงินทอง   ก็กลับเข้ามาในวังบางขุนพรหม  ทูนกระหม่อมบริพัตร ฯ  ก็ประทานเงินคราวละมาก ๆ  เสมอ    แต่ท่านขอรับไปเพียงครั้งละ  ๑  ชั่ง (๘๐ บาท) เป็นอย่างมาก  เมื่อเข้ามาในวังบางขุนพรหมครั้งใด  ถ้ามีการฝึกซ้อมดนตรีกันอยู่ ท่านก็จะร่วมวงด้วย หรือไม่ก็จะช่วยบอกเพลงให้   

ลักษณะของคุณร่ำ  เป็นคนผิวคล้ำ  รูปร่างงาม  ใบหน้าคมขำ  ศิษย์ที่เคยเรียนดนตรีจากท่านนั้น  จะมีใครบ้างยังสืบค้นไม่ได้  ในปลายชีวิตของท่านก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕  ประมาณ ๒-๓ ปี  ท่านป่วยด้วยโรคชรา และถึงแก่กรรมที่บ้านหน้าวัดเลียบ  ซึ่งที่ดินตรงนั้น  ต่อมาถูกเวนคืนไป  เพื่อสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก  คำบอกเล่าของคุณจงสวัสดิ์  ไกรฤกษ์)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่นๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.