พระพาทย์บรรเลงรมย์ (พิมพ์ วาทิน) (พ.ศ.๒๔๒๐-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

พระพาทย์บรรเลงรมย์ (พิมพ์ วาทิน) (พ.ศ.๒๔๒๐-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

พระพาทย์บรรเลงรมย์ (พิมพ์ วาทิน)

(พ.ศ.๒๔๒๐-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

 

พระพาทย์บรรเลงรมย์  (พิมพ์  วาทิน)เป็นนักดนตรีกรมมหรสพ สมัยรัชกาลที่ ๖   เกิดที่ตำบลปากน้ำ   เมืองนครไชยศรี (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดนครปฐม) เกิดเมื่อวันพฤหัสแรม ๓  ค่ำ   เดือนยี่   ปีฉลู   ตรงกับวันที่  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.๒๔๒๐   ได้เริ่มเรียนหนังสือ ณ วัดสุประดิษฐาราม  เมื่ออายุ  ๒๑ ปี  แล้วหัดดนตรีกับท่านครูผู้ใดยังค้นไม่ได้  ทราบแต่เพียงว่าเริ่มเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๖  ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  สยามมกุฎราชกุมาร   เมื่อวันที่  ๑  มกราคม  พ.ศ.๒๔๔๙  รับพระราชทานเงินเดือนขั้นต้น ๒๐ บาท  เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชสมบัติแล้ว  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นขุนพาทย์บรรเลงรมย์ เมื่อวันที่  ๑๘  มกราคม  พ.ศ.๒๔๕๓   รับพระราชทานเงินเดือน  ๖๐  บาท   เป็นหุ้มแพรหลวงพาทย์บรรเลงรมย์   เมื่อวันที่  ๑  มกราคม  พ.ศ.๒๔๕๕   เงินเดือน  ๑๐๐  บาท  

เมื่อเข้ามาอยู่ในกรมมหรสพ  ได้เป็นศิษย์ของพระยาประสานดุริยศัพท์  ทำหน้าที่เป็นคนตีระนาดทุ้ม  และเป็นครูสอนประจำด้วย   อีกทั้งยังได้สอน อาจารย์มนตรี  ตราโมทด้วย  ต่อมาท่านได้เปลี่ยนไปทำหน้าที่คนตีเครื่องหนัง  ปรากฏว่ามีฝีมือดีมาก เป็นที่เคารพนับถือทั่วไป ใน พ.ศ.๒๔๕๘ ท่านเริ่มป่วยและขาดราชการบ่อย ๆ จนถึงขาดราชการ มิได้กลับมาทำหน้าที่ประจำ ตั้งแต่วันที่ ๑  ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๙  หยุดงานมิได้รับพระราชทานเงินเดือน  เวลา ๓ ปีเศษ  จึงได้ย้อนกลับเข้ามารับราชการอีกในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๒   ครั้นถึงวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๕  จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระพาทย์บรรเลงรมย์  เมื่ออายุได้ ๔๕ ปี  ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราช้างเผือกชั้นที่  ๔    

พระพาทย์บรรเลงรมย์  แต่งงานครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๓  กับนางสาวนวล  บุตรีนายช้าง และนางถิน  ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่บ้าน หอมเกร็ด  นครไชยศรี  มีบุตร  ๓  คน  เป็นหญิงชื่อ หน่าย  เป็นชาย ชื่อ เลียบ และพงษ์   และมีภรรยาคนที่  ๒  ชื่อ จีน   มีบุตรชายคนหนึ่ง ชื่อ พัก   แล้วมีภรรยาคนที่ ๓ ชื่อปุ้ย  บุตรีหลวงรามพิทักษ์ (ทิม) และนางทองอยู่  ซึ่งเป็นคนตำบลสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม  มีบุตรอีก ๓ คน เป็นชาย  ชื่อ  เพ่ง   เป็นหญิงชื่อ  พ้อง  และเฉลา  สำหรับบุตรีคนสุดท้องนี้  คือ   คุณเฉลา วาทิน  เป็นนักร้องสังกัดกรมศิลปากร    รุ่นเดียวกับ อาจารย์เจริญใจ   สุทรวาทิน    และครูแช่มช้อย ดุริยพันธุ์   

พระพาทย์บรรเลงรมย์เคยต่อหน้าทับต่าง ๆ ให้ศิษย์ไว้หลายคน ที่สืบประวัติได้ก็มี นายแมว พาทยโกศล นายยรรยงค์  โปร่งน้ำใจ   เป็นต้น  

ฝีมือการเดี่ยวระนาดทุ้มเพลงพญาโศกของท่าน   เป็นที่ยอมรับของทุกคนที่เคยได้ฟัง  ว่ายอดเยี่ยม   โดยเฉพาะผู้ที่เคยอยู่ในพระราชวังสนามจันทร์มาก่อน

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก  เอกสารทะเบียนประวัติ  กรมมหรสพ  สำนักพระราชวัง)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.