หลวงพวงสำเนียงร้อย (นาค วัฒนวาทิน) (พ.ศ.๒๔๒๗-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

หลวงพวงสำเนียงร้อย (นาค วัฒนวาทิน) (พ.ศ.๒๔๒๗-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

หลวงพวงสำเนียงร้อย (นาค วัฒนวาทิน)

(พ.ศ.๒๔๒๗-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

 

หลวงพวงสำเนียงร้อย (นาค  วัฒนวาทิน) เป็นนักดนตรีกรมมหรสพสมัยรัชกาลที่ ๖ ทำหน้าที่ตีระนาดทุ้มประจำวงพิณพาทย์หลวงมาตั้งแต่ก่อนรัชกาลที่ ๖ ขึ้นครองราชย์  เป็นศิษย์ของครูช้อย  สุนทรวาทิน   รุ่นวัดน้อยทองอยู่    ซึ่งสมภารแสง ถวายตัวเข้ามาเป็นมหาดเล็กรัชกาลที่ ๖   ตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พ.ศ.๒๔๔๘  เกิดเมื่อวันอาทิตย์  เดือน  ๙   ปีวอก   ตรงกับเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๒๗   บิดาชื่อ อ่ำ  มารดาชื่อ บัว  มีน้องชายเป็นนักดนตรี  ชื่อ “เพิ่ม”ซึ่งต่อมาได้เป็นหลวงสร้อยสำเนียงสนธ์  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระราชทานนามสกุล   วัฒนวาทิน   เมื่อวันที่  ๑๙  กันยายน  พ.ศ.๒๔๕๖  

เริ่มรับราชการเป็นมหาดเล็กพิณพาทย์หลวงเมื่ออายุ  ๒๑  ปี  รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ  ๒๐  บาท  ได้เป็นขุนพวงสำเนียงร้อย เมื่อวันที่  ๒๙  มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๘  พร้อมกับนายเพิ่มน้องชาย  และเพื่อนในวันที่ร่วมรุ่นด้วยกันอีก ๔ คน  ชื่อ  ช่วง  โชติวาทิน  (ขุนวิมลวังเวง) กร  กรวาทิน (ขุนบรรเลงเลิศเลอ) ห่อ  คุปตวาทิน (ขุนบำเรอจิตจรุง และธูป  สาตรวิลัย (ขุนบำรุงจิตรเจริญ) 

ต่อมาในวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๕  ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงพวงสำเนียงร้อย”รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๖๐ บาท    

หลวงพวงสำเนียงร้อย  มีภริยา ชื่อ ขวัญ   เป็นธิดานายพร้อมและนางคร้าม   อยู่บ้านปลายคลองคราม  กรุงเทพฯ แต่งงานเมื่อพ.ศ.๒๔๕๐ เท่าที่ค้นได้ มีบุตรชายชื่อขวัญ เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑    

หลวงพวงสำเนียงร้อย    เป็นคนมีนิสัยโอบอ้อมอารี    ใจเย็น   และมีอัธยาศัยดีมาก  มีฝีมือพอประมาณ  ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๖ ไม่ค่อยได้บรรเลงดนตรีบ่อยนัก  นอกจากจะมีงานหลวงมาก   ต้องใช้ดนตรีหลายวงพร้อม ๆ กัน   หลวงพวงสำเนียงร้อยจึงจะลงมาตีระนาดบ้าง  นับแต่ อาจารย์มนตรี   ตราโมท    มาเป็นคนตีระนาดทุ้มวงหลวงเวลาตามเสด็จ ฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ แล้ว  หลวงพวงสำเนียงร้อยก็มีหน้าที่น้อยลง  

ยังค้นประวัติไม่ได้ว่า  ถึงแก่กรรมเมื่อใด  และใครเป็นศิษย์ของท่านบ้าง

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก  เอกสารทะเบียนประวัติ กรมมหรสพ สำนักพระราชวัง)

 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.