พลอยสี สรรพศรี (พ.ศ.๒๔๖๒-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

พลอยสี สรรพศรี (พ.ศ.๒๔๖๒-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

พลอยสี สรรพศรี

(พ.ศ.๒๔๖๒-ไม่ทราบปีถึงแก่กรรม)

 

นางพลอยสี  สรรพศรี   เกิดเมื่อวันที่  ๔  กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๔๖๒ ที่จังหวัดลำพูน  เป็นบุตรีของนายบุญทา  และนางเขียน  นามสกุลเดิม เมฆขยาย  มีพี่น้องทั้งหมด ๕ คน  เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนพุทธโสภณ   จังหวัดเชียงใหม่     จบชั้นประถมปีที่ ๒   แล้วมาเรียนต่อที่โรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพ   จนจบชั้นประถมปีที่  ๔  

เมื่ออายุได้ประมาณ  ๑๖  ปี (พ.ศ.๒๔๗๘)ได้เข้าไปเป็นช่างฟ้อน  เป็นนักร้องและเป็นตัวละครอยู่ในคุ้มเจ้าแก้วนวรัฐ  ที่จังหวัดเชียงใหม่  จนถึงพ.ศ.๒๔๘๓  มาเป็นนางเอกละครร้องที่คณะละคร  บริษัทนิยมไทย  เวิ้งนครเกษม   กรุงเทพมหานคร  ในช่วงนี้ได้แสดงภาพยนตร์และละครร้องหลายเรื่อง  รวมทั้งเป็นนางเอกละครเร่ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ด้วย  จนถึงพ.ศ.๒๔๙๙  จึงได้กลับไปอยู่ที่จังหวัดเชียงราย  และไปเป็นครูสอนขับร้องและนาฏศิลป์ ที่โรงเรียนดรุณราษฎร์วิทยา  ที่อำเภอแม่สาย  แล้วย้ายมาสอนที่โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม  ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๔  จนถึงปัจจุบันนี้ (พ.ศ.๒๕๒๖) 

ทางด้านดนตรีไทยนั้น  เริ่มเรียนจากเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗  เพลงแรกที่เรียน  คือ  เพลงจระเข้หางยาว   เมื่อพ.ศ.๒๔๙๘ ได้แต่งงานกับ นายอินทร์หล่อ  สรรพศรี  จึงได้เรียนจะเข้เพิ่มเติมจากสามีอีกหลายเพลง  เช่น  แป๊ะ  สี่บท  บุหลัน  นางครวญ  เยี่ยมวิมาน  เป็นต้น  

ความสามารถในทางดนตรีไทยของนางพลอยสีนั้น  ชำนาญในการดีดจะเข้เพียงอย่างเดียวในทางเครื่อง   แต่มีความสามารถในทางร้องประเภทเพลงเสภา  เพลงละคร  เพลงพื้นเมือง  ดีมาก  มีความถนัดในการขับร้องพร้อมกับบรรเลงเครื่องดนตรีไปด้วย  และได้รับมอบให้ทำพิธีไหว้ครูจากครูช่อ  สุนทรวาทิน  

ผลงานทางการแสดงนั้นมีความสามารถในการฟ้อนรำตั้งแต่ครั้งยังอยู่ในคุ้มของเจ้าแก้วนวรัฐ  และคุ้มของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี  ในรัชกาลที่ ๕  ได้ลงมาแสดงถึงกรุงเทพมหานครอยู่เสมอ  และยังเป็นผู้จัดการให้มีการฟ้อนรำในการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ   เมื่อเสด็จเยือนเชียงราย  พร้อมทั้งรับแขกสำคัญของทางราชการอยู่เสมอ  ผลงานที่ท่านภูมิใจมาก  ได้แก่  ถ้วยรางวัลที่  ๑  ในการขับร้องเพลงไทยและเพลงพื้นเมือง  และได้รับเชิญในฝึกสอนการฟ้อนสาวไหมให้แก่อาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป์  ซึ่งต่อมาได้บรรจุไว้ในหลักสูตรของวิทยาลัยด้วย  

ปัจจุบัน(พ.ศ.๒๕๒๖) ท่านพักอยู่กับครอบครัวที่บ้านเลขที่ ๙๓๙/๗  ถนนราษฎร์อุทิศ อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงราย  ยังช่วยครอบครัวสอนขับร้องและดนตรีไทย  พร้อมทั้งมีงานออกอากาศ  ณ  สถานีวิทยุที่เชียงรายอีก ๓ แห่ง  เป็นประจำ

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก บันทึกประวัติศิลปินเพลงไทย  ซึ่งบันทึกข้อความโดยนางพลอยสี  สรรพศรี)

 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.