เผือด นักระนาด (พ.ศ.๒๔๕๕-๒๕๐๕)

เผือด นักระนาด (พ.ศ.๒๔๕๕-๒๕๐๕)

เผือด นักระนาด

(พ.ศ.๒๔๕๕-๒๕๐๕)

 

นายเผือด  นักระนาด  เป็นนักระนาดเอกฝีมือดีมากคนหนึ่งของกรมศิลปากร บิดา ชื่อ เมฆ มารดา ชื่อ ปุย เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๕  ที่ตำบลบางกะพ้อม  อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม   ต้นตระกูลเป็นนักดนตรีสืบเชื้อสายกันมาหลายสมัย  และเกี่ยวเนื่องเป็นญาติกับครูสุข   นักดนตรีแห่งอัมพวาด้วย     บิดานั้นชำนาญดนตรีปี่พาทย์ โขนละครมาก ส่วนมารดานั้นเป็นตัวละครที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง

เรียนหนังสือสอบได้ชั้นประถมปีที่ ๓ จากโรงเรียนวัดแจ้ง จังหวัดสงขลา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖  แล้วเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพ ฯ จนจบประถมปีที่ ๔  เรียนดนตรีกับบิดา และช่วยงานอยู่ในวงจนโตเป็นหนุ่ม บิดาจึงนำมาฝากเป็นศิษย์ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้ฝึกหัดระนาดจนชำนาญมีฝีมือดีมากจนถึงท่านครูหลวงประดิษฐ์ยกย่องว่า เป็นศิษย์มือระนาดแนวหน้าคนหนึ่งของท่าน ได้เคยแสดงฝีมือระนาดเอกในงานประชันดนตรีที่วังลดาวัลย์ในวันประสูติครบสี่รอบของสมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพรกรมหลวงลพบุรีราเมศร์   เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๗๓ เป็นที่เลื่องลือกันมากในครั้งนั้นว่าเป็นคนดีมีฝีมือ   

ครั้นเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๗๕ แล้ว ก็ยังประจำอยู่วงดนตรีของหลวงประดิษฐไพเราะเรื่อยมา จนถึง พ.ศ.๒๔๘๕   จึงได้ไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเขียนโน้ตที่หมวดดุริยางค์ทหารเรือ จนถึง พ.ศ.๒๔๙๑  หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) จึงได้ชักชวนให้มารับราชการในกรมศิลปากร      ก็ได้เป็นนักระนาดเอกประจำกรมในตำแหน่งศิลปินจัตวามาตั้งแต่อายุได้ ๓๕ ปีเศษ  

นายเผือดได้ทำหน้าที่บรรเลงเพลงประกอบการแสดง โขน  ละคร  มาตั้งแต่ครั้งโรงละครศิลปากรยังอยู่ชิดรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ก่อนไฟไหม้) ได้ชื่อว่าตีระนาดมโหรีไพเราะ ส่วนฝีมือในทางปี่พาทย์ไม้แข็งก็มีชื่อว่าตีระนาดไหว เรียบ และทางเพลงดี  หากเข้าคู่กับครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ แล้ว จะเป็นที่ยอมรับนับถือว่า  เพลงจะต้องไพเราะอย่างแน่นอน  

นายเผือดแต่งงาน  มีภรรยาชื่อ  ถวิล   บ้านอยู่ใกล้วัดชนะสงคราม  ผลงานของท่านเท่าที่ค้นพบ มีเป็นเทปบันทึกเสียงเพลงแขกมอญ เถา  และแขกมอญบางขุนพรหม  เถา ครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ ขับร้อง โดยครูเผือดเป็นผู้ตีระนาด ส่วนฝีมือเดี่ยวต่าง ๆ นั้น  ยังค้นไม่พบว่า  ยังมีหลงเหลืออยู่บ้างหรือไม่   

นายเผือดถึงแก่กรรมเมื่อวันที่  ๓๐  พฤศจิกายน  พ.ศ.๒๕๐๕    อายุได้  ๕๐  ปี

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก  เอกสารทะเบียนประวัติ กรมศิลปากร)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.