เปลื้อง กรานต์เลิศ (พ.ศ.๒๔๒๔-๒๔๙๔)

เปลื้อง กรานต์เลิศ (พ.ศ.๒๔๒๔-๒๔๙๔)

เปลื้อง กรานต์เลิศ

(พ.ศ.๒๔๒๔-๒๔๙๔)

 

ครูเปลื้อง กรานต์เลิศ  เป็นชาวจังหวัดชลบุรี  บิดาชื่อกรานต์  ส่วนมารดานั้นยังสืบนามไม่ได้ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๒ คน คือ ตัวท่านและพี่ชายอีก ๑ คน ชื่อ ตึ๋ง เป็นคนตีกลองทัดในวงดนตรีวังบูรพาภิรมย์  

เมื่อบิดาเสียชีวิต ครูเปลื้องได้เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ กับบิดาเลี้ยงชื่อ พลับ ซึ่งเป็นนายวงปี่พาทย์ อยู่ที่บ้านตะโก สี่พระยา หลังวัดแก้วแจ่มฟ้า นายพลับมีลูกเลี้ยงอีกคนหนึ่งเป็นหญิงชื่อ จิ้งหรีด ต่อมาเมื่อนายพลับเสียชีวิตลง ครูเปลื้องจึงเป็นผู้รับมรดกเครื่องปี่พาทย์ส่วนใหญ่ และเป็นผู้ควบคุมวงดนตรีต่อมา ส่วนนางจิ้งหรีดนั้นได้รับส่วนแบ่งเป็นเครื่องปี่พาทย์บ้างเช่นกัน แต่ได้ขายไปหมด เนื่องจากตัวเองตลอดจนสามีและบุตร ไม่มีความสามารถทางดนตรีเลย   

ครูเปลื้องมีภรรยาชื่อ ทับทิม มีบุตรธิดาด้วยกัน ๙ คน เสียชีวิตแต่ยังเล็ก ๒ คน ที่มีชีวิตอยู่ ๗ คน คือ พลเรือตรีทัด กรานต์เลิศ  นางเทียม (กรานต์เลิศ) เซ็นพานิช (สมรสกับนายทรัพย์ เซ็นพานิช คนระนาดเอกฝีมือดีของวงดนตรีวังบางขุนพรหม) นางยี่โถ  พลเอกเทพ กรานต์เลิศ นางทิพย์ พันเอกศิริ กรานต์เลิศ และ นางประทุม บุตรสาวที่ชื่อเทียมนั้น เป็นนักร้องเสียงดีอยู่ในวงดนตรีวังบางขุนพรหม ส่วนคนอื่นๆ นอกนั้นไม่มีใครยึดอาชีพเป็นนักดนตรี    

วิชาความรู้ในด้านดนตรีนั้น สืบไม่ได้ว่าท่านเป็นศิษย์จากสำนักใด แต่มีความสามารถทางเครื่องปี่พาทย์ดีมาก  สามารถบรรเลงได้รอบวง  ยกเว้นปี่ ที่ถนัดเป็นพิเศษ   คือ ระนาดทุ้มและเครื่องหนัง   ครูเปลื้อง เคยเป็นนักดนตรีอยู่วงปี่พาทย์วังกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์  ซึ่งได้ร่วมวงกับครูจางวางทั่ว พาทยโกศล นายเผือก นายฝั่ง และนายจู (คนปี่ บ้านอยู่ข้างวัดพระพิเรนทร์) ต่อมาวงปี่พาทย์วงนี้ล้มเลิกไป ครูจางวางทั่วไปอยู่วงดนตรีวังบางขุนพรหม ส่วนครูเปลื้องกลับมายึดอาชีพนักดนตรี มีวงปี่พาทย์รับบรรเลงในงานต่างๆ ที่บ้านหลังวัดแก้วแจ่มฟ้า  ซึ่งนักดนตรีในวงก็มีอาทิเช่น นายเขียน ศุขสายชล  ระนาดเอก (คนนี้เป็นศิษย์คนสำคัญ ได้เรียนดนตรีและกินนอนอยู่ที่บ้านครูเปลื้อง ตั้งแต่ท่านเพิ่งมีบุตรคนที่ ๒  จนถึงเกือบสุดท้องจึงได้ย้ายออกไป) นายเพิ่ม คนฆ้องใหญ่ นายเล็กคนเครื่องหนัง  นายอ่อนคนฆ้องเล็ก   นายบ่าย  และนายอ่วม  บางครั้งก็ได้นายแปลก (บิดาครูเทียบ  คงลายทอง) นายศร (หลวงประดิษฐไพเราะ) นายชั้น  มาลัยมาลย์  (บิดาครูเจียนหรือกมล มาลัยมาลย์) และ นายสิน มาร่วมวงด้วย  และบางทีก็มีนักดนตรีจากวังของสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ  กรมหลวงนครราชสีมา  มาขอต่อเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงจากครูเปลื้องด้วย นอกจากความสามารถในการบรรเลงปี่พาทย์แล้ว ท่านมีความสามารถในการประดิษฐ์เครื่องดนตรี  เช่น  การเหลาผืนระนาด  ไม้ตีระนาด  และที่มีชื่อเสียงดีมาก  คือ  ฝีมือในการขึ้นเครื่องหนัง  ที่บ้านของครูมีเครื่องปี่พาทย์ประกอบงา  ๒  ชุด  และเครื่องไทยแกะเป็นรูปใบไม้สีเขียวอีก ๑ ชุด   ภายหลังได้ขายเครื่องประกอบงาให้แก่วงปากน้ำ  ๑  ชุด  ขายให้แก่บ้านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ๑ ชุด  ส่วนเครื่องที่แกะเป็นรูปใบไม้นั้นได้ขายให้แก่นายมิ ทรัพย์เย็น ซึ่งต่อมาเมื่อนายมิถึงแก่กรรมแล้ว  ชุมนุมดนตรีไทย  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ประมูลมาไว้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   

ในวัยชรา เมื่อลูกศิษย์และนักดนตรีที่เคยร่วมวงกันแยกย้ายกันไปหมด  ระยะนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่  ๒  บริเวณใกล้บ้านท่านถูกระเบิดเสียหายมาก  ครั้งหนึ่งมีลูกระเบิดตกลงมากลางนอกชานบ้านครูเปลื้อง  แต่ไม่ระเบิด  ทำให้ครูตกใจถึงกับช็อค ครูจึงย้ายไปอยู่กับลูกสาวที่ชื่อ ยี่โถ จนถึงแก่กรรม เมื่ออายุประมาณ ๗๐ ปี

จรวยพร สุเนตรวรกุล 

(เรียบเรียงจาก  คำให้สัมภาษณ์ของ นายเขียน ศุขสายชล  สัมภาษณ์โดย นายเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์  เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๕)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่นๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.