ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ (พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๕๑๖)

ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ (พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๕๑๖)

ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์

(พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๕๑๖)

 

นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์  เป็นนักดนตรีไทยมีความสามารถในการสีซอสามสายและบรรเลงเครื่องสายได้เป็นอย่างดี เกิดที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ บิดาชื่อวอน และมารดาชื่อ สำเภา มีอาชีพในการประมง 

เมื่อยังเล็ก เริ่มเรียนหนังสือที่วัดอัมพารามหัวหิน และศึกษาประวัติศาสตร์ วรรณคดี โครงฉันท์ กาพย์ กลอนจากบิดา รวมทั้งเรียนรู้วิชาโหราศาสตร์จนมีความรู้เป็นที่เคารพนับถือ และเนื่องจากเป็นนักอ่าน จึงเชี่ยวชาญในวรรณคดี ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรม ศาสนา และกวีนิพนธ์ สามารถแต่งบทประพันธ์ได้ดี รวมทั้งแต่งบทเพลงไว้หลายบท 

เริ่มเรียนดนตรีไทยจากพระพี่เลี้ยงแก้ว จุลโยธิน ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในวังของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระพี่เลี้ยงแก้วได้มาพักตากอากาศที่หัวหิน ที่วังพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ (พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ) จึงได้สอนให้หัดสีซอ ทุกประเภททั้งซอด้วง ซออู้ ซอสามสาย จนถึงไวโอลินของฝรั่งเศสก็สีได้ดี 

เริ่มรับราชการเป็นครูที่โรงเรียนเทศบาลหัวหินก่อน แล้วย้ายไปเป็นตำรวจที่อำเภอหัวหิน (พ.ศ. ๒๔๗๒-พ.ศ. ๒๔๗๓) จากนั้นจึงเข้ามากรุงเทพฯ ได้เป็นศิษย์ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) พ.ศ. ๒๔๗๗ – พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นครูวิชาดุริยางคศาสตร์ โรงเรียนนาฎศิลป กรมศิลปากร แล้วย้ายไปทำงานองค์การเชื้อเพลิงจนเกษียณอายุแต่งงานกับนางสาวแย้ม ทองประณีต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ แต่ไม่มีบุตรสืบสกุล 

นายฉันทิชย์ นอกจากจะเป็นนักเขียนหลายนามปากกา มีผลงานในด้านศิลปวัฒนธรรมแพร่หลายมากแล้ว ในด้านดนตรี ท่านเคยแสดงฝีมือเดี่ยวซอสามสายถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน มาตั้งแต่เด็ก และพระราชวงศ์อีกหลายพระองค์ อาทิ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตน์ราชกุมารี และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา เป็นต้น ได้แต่งบทละคร เรื่องสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพ ให้นักเรียนนาฎศิลป์แสดง รวมทั้งแต่งเพลงอะแซหวุ่นกี้เถา กับเพลงยโสธรเถา เป็นต้น 

นอกจากจะร่วมเล่นดนตรีไทย สีซอสามสายกับวงเครื่องสายคณะหนุ่มน้อยเป็นประจำแล้ว ยังตั้งวงดนตรี “มธุรวาทิต” อีกวงหนึ่งด้วย

ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ท่านได้เสนอความคิดให้ท่านนายกรัฐมนตรีสนับสนุนการเล่นดนตรีไทย อันเป็นต้นกำเนิดรายการโทรทัศน์ “คันธรรพศาลา” ขึ้นที่ไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม โดยเป็นผู้คิดชื่อรายการ และวางรูปแบบร่วมกับคุณจำนง รังสิกุล รายการนี้ได้เป็นเวทีแสดงฝีมือนักดนตรีไทยทุกวัย ทั้งประเภทวงอาชีพและวงสมัครเล่น รวมทั้งวงดนตรีจากสถาบันการศึกษาอีกมากมายหลายแห่ง นับเป็นรายการที่ยืนยงตลอดมาเป็นเวลาร่วม ๑๐ ปี จึงหยุดไปเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ 

นายฉันทิชย์ ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ เมื่อวันที่ ๒๓ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ อายุได้ ๖๕ ปีเศษ เมื่อป่วยอยู่ ท่านยังได้นอนดูรายการคันธรรพศาลา ที่ท่านก่อตั้งไว้ด้วยความชื่นชม โดยไม่มีโอกาสทราบว่าพอถึงวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ทางสถานีโทรทัศน์ก็ได้ล้มเลิกรายการคันธรรพศาลา เพราะความผันผวนทางการเมืองเป็นเหตุ

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจากหนังสือ “ฉันทิชยาลัย” พ.ศ. ๒๕๑๖)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่นๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.