พระราชชายาเจ้าดารารัศมี
(พ.ศ. ๒๔๑๖-๒๔๗๖)
พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ประสูติเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ ณ คุ้มหลวงแห่งนครเชียงใหม่ เป็นพระราชธิดาของ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ และเจ้าแม่ทิพไกรสร เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
พระบิดาโปรด ฯ ให้มีพิธีโสกันต์ เมื่อเจ้าดารารัศมี มีพระชนมายุครบ ๑๑ พรรษา ในขณะนั้นสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย แห่งประเทศอังกฤษ ได้ทรงขอตัวเจ้าดารารัศมีไปเป็นพระธิดาบุญธรรม เนื่องด้วยมีความประสงค์จะผนวกแคว้นลานนาไทยไปรวมไว้กับประเทศพม่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าหากดำเนินนโยบายต่างประเทศผิดพลาด หัวเมืองทางเหนืออาจตกไปเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงพิชิตปรีชากร เชิญเครื่องเพชรไปพระราชทานแก่เจ้าดารารัศมีพร้อมด้วยพระราชสาส์นถึงพระเจ้าอินทวิชยานนท์ว่าทรงขอหมั้นเจ้าดารารัศมี พร้อมทั้งคำมั่นสัญญาว่า “จะไม่เหยียบย่ำ จะยกย่องเสมอกัน” ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๙ เจ้าดารารัศมีจึงได้เสด็จมาประทับอยู่ในวังหลวง จนประสูติพระธิดาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้าวิมลนาถนพสี แต่สิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่ชันษาได้ ๔ ปี
ขณะประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังพระราชชายา ฯ ได้เชิญครูดนตรีไทยเข้าไปสอนถึงในวังและส่งคนจากตำหนักบางคน ออกไปเรียนดนตรีไทยนอกเขตพระราชฐานด้วย เช่น เจ้าเทพกัญญา ได้ออกไปเรียนซอ กับพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ที่บ้านตรอกไข่ เสาชิงช้า เป็นต้น ครูที่เข้ามาสอนในวังมี ครูช้อย สุนทรวาทิน ซึ่งมีจักษุพิการ โดยมีหลวงบรรเลงเลิศเลอ (กร กรวาทิน) เป็นผู้จูงเข้าไปในวังเสมอ ครูหม่อมผิว ในพระยานรรัตน์ราชมานิตย์ (โต มานิตยกุล) และพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) พระญาติของพระราชชายา ฯ ที่เรียนดนตรีไทยจนมีความสามารถมากและเป็นครูถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่นต่อมา ได้แก่ เจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ และเจ้าเทพกัญญา บูรณพิมพ์ ส่วนพระราชชายา ฯ นั้น ทรงถนัดบรรเลงจะเข้มาก พอ ๆ กับทรงซอได้ดี แต่โปรดที่จะทรงจะเข้มากกว่า ได้ทรงสอนให้แก่ เจ้าโสภา เพ็งพุ่ม (ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นครูสอนดนตรีไทยอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชชายา ฯ ซึ่งเสด็จกลับไปประทับ ณ เชียงใหม่ เป็นการถาวรตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้หาครูดนตรีไทยจากกรุงเทพ ฯ ขึ้นไปประจำที่คุ้ม มีครูรอดและครูชั้น อักษรทับ ครูฉัตร และครูช่อ สุนทรวาทิน เป็นอาทิ นับเป็นกำลังสำคัญในการถ่ายทอดดนตรีไทยในแคว้นลานนาเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้พระราชชายา ฯ ยังได้ทรงนิพนธ์เพลงไว้หลายเพลง มี เพลงน้อยใจยา เป็นเพลงที่มีชื่อเสียงเลื่องลือมาก ปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ก็ยังนิยมนำมาร้องและฟ้อนกันเสมอ
พระราชชายาเจ้าดารารัศมี สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรค พระปับผาสะพิการ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ พระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา พระองค์ท่านทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ดนตรีและนาฎศิลป์อย่างแท้จริง พระญาติของท่านหลายคนเป็นครูถ่ายทอดศิลปะดนตรีไทย ซึ่งยังมีเชื้อสายสืบทอดมาจนทุกวันนี้
จรวยพร สุเนตรวรกุล
(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของนาแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ในสยามรัฐรายวัน ฉบับประจำวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ และหนังสือ “ดารารัศมีรำลึก” ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑.
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.