เทียบ คงลายทอง (พ.ศ. ๒๔๔๕-๒๕๒๔)

เทียบ คงลายทอง (พ.ศ. ๒๔๔๕-๒๕๒๔)

เทียบ คงลายทอง

(พ.ศ. ๒๔๔๕-๒๕๒๔)

 

ครูเทียบ คงลายทอง เป็นบุตรของนายแปลก และนางสอน เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๕ ตรงกับวันจันทร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล ณ บ้านเลขที่ ๒๗๑ ตำบลวัดกัลยาณมิตร แขวงบุปผาราม อำเภอธนบุรี กรุงเทพมหานคร 

การศึกษาวิชาสามัญ ได้เรียนกับคนข้างบ้านจนอ่านออกเขียนได้ แต่ไม่เคยเข้าโรงเรียนเลยเริ่มศึกษาวิชาดนตรีจากบิดาด้วยการหัดเป่าขลุ่ยตั้งแต่เล็ก ครั้นอายุได้ ๙ ปี จึงได้รับการจับมือเรียนฆ้องใหญ่จาก ครูทองดี ชูสัตย์ ผู้มีศักดิ์เป็นปู่ของจางวางทั่ว พาทยโกศล ต่อมาได้เรียนปี่ใน กับครูจู ภิญโญ เจ้าของปี่ท่านพระ(ปี่ของครูมีแขก) อยู่ระยะหนึ่ง เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น อายุประมาณ ๑๖ ปี บิดาได้พาไปฝากตัวเป็นศิษย์พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ซึ่งเป็นครูคนสุดท้ายที่ได้สร้างชีวิต และความสำเร็จในวิชาดนตรีให้แก่ครูเทียบต่อมา  

หน้าที่การงานของครูเทียบนั้น เริ่มด้วยการเข้าเป็นคนปี่ในวงปี่พาทย์ของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวังในสมัยรัชการที่ ๖ ต่อมาเมื่ออายุครบเกณฑ์ทหารก็เข้ารับราชการทหารสังกัดกรมทหารรักษาวัง แต่ได้รับคำสั่งพิเศษให้หัดเป่าปี่ครึ่งเดือน ฝึกทหารครึ่งเดือน เมื่อพ้นราชการทหารได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กกองพิณพาทย์หลวง กรมมหรสพ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๖๙ ครั้นเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว พ.ศ. ๒๔๗๘ ครูเทียบ โอนมาสังกัดแผนกดุริยางค์ไทย กรมศิลปกร และรับราชการในกรมศิลปากรเรื่อยมาจนเกษียณอายุราชการ แต่ยังได้รับการจ้างเป็นครูพิเศษในวิทยาลัยนาฎศิลปเรื่อยมา จนถึงแก่กรรมด้วยโรคไต เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๕ สิริอายุได้ ๘๐ ปี  

ชีวิตดนตรีของครูเทียบนั้นมีข้อควรบันทึกมากมายยิ่งนัก เริ่มตั้งแต่การเรียนดนตรีกับพระยาเสนาะฯ ครูเทียบมีความอุตสาหะวิริยะอย่างยิ่งยวด ทั้งประกอบด้วยกตัญญูกตเวทีอย่างสูงสุดถ้าจะให้ยกตัวอย่างคนไทยแท้ ๆ สักคนที่มีความสุภาพอ่อนน้อมเมตตากรุณา และความเคารพนบนอบบุพการีครูบาอาจารย์ ทั้งประกอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสมอต้นเสมอปลาย โอบอ้อมอารี ก็เห็นจะยกครูเทียบไว้ได้คนหนึ่งทีเดียว ความสามารถทางดนตรีของครูเทียบเรียกได้ว่า “รอบวง” คือบรรเลงได้ทุกเครื่องมือ แต่ที่วิเศษที่สุด คือ ปี่ อาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน บุตรีคนสุดท้องของพระยาเสนาะดุริยางค์ เขียนไว้ว่า  

“พ่อต่อเพลงให้พี่เทียบทุกเดี่ยว ทุกอย่างพี่เทียบมีความชำนาญยิ่งนัก สามารถทำเพลงให้มีชีวิต ไพเราะจับใจด้วยความเชี่ยวชาญ สามารถเป่าปี่ทำล่องลอยเล่นโดยไม่ยอมลงตามจังหวะได้เป็นนาน ๆ อย่างเหมาะสม น่าฟัง การทำลูกเล่นเช่นนี้ทำให้เป็นที่สนุกสนานรื่นเริงแก่เพื่อนร่วมวงยิ่งนัก นอกจากจะเป่าได้หวานจับใจแล้ว ยังทำตลกได้ด้วย บางทีก็ทำล่องลอย เช่น ปี่พาทย์ตั้งเพลงเชิด ปี่พาทย์ก็จะวิ่งเป็นพื้น แต่ปี่จะเป่าลอยหวานวาดเป็นลวดลายวิจิตรสวยงามอยู่ข้างบน จนหมดเชิดตัวแรกจึงจะกลับเข้าวง ยิ่งเพลงฉุยฉาย นอกจากจะเป่าคำพูดตามคำร้องได้ชัดที่สุดแล้ว เวลาเครื่องรับพี่เทียบจะวาดลวดลายสวยงามลัดเลาะลงด้วยความเหมาะสมพอดีพองามยิ่ง หรือจะเป่าครวญทยอยรวมเข้ามากับร้อง พี่เทียบครวญได้ไพเราะนัก ปี่ชวายิ่งวิเศษหาใครเทียบเคียงไม่ได้เลย ข้าพเจ้าแน่ใจว่าจะหาใครที่ไหนมีความรู้กว้างขวางเชี่ยวชาญแตกฉานคล่องในเชิงปฏิบัติถึงเพียงนี้ไม่มีอีกแล้ว” 

ฝีมือปี่ของครูเทียบนั้นโด่งดังมาตั้งแต่ยังรุ่น ๆ ในการประชันวงปี่พาทย์ที่วังบางขุนพรหม เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๔๖๖ ครูเทียบเป่าปี่ในคู่กับครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล บุตรชายจางวางทั่ว ผลปรากฎว่า กรรมการตัดสินให้ ครูเทวาประสิทธิ์ ได้ที่ ๑ ชั้นตรี ครูเทียบได้ที่ ๒ ชั้นโท แล้วสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตประทานเงินคนละ ๑ ชั่ง เท่ากัน เป็นอันไม่มีใครแพ้ชนะ เพราะดีกันไปคนละอย่าง อันที่จริงทั้งครูเทียบและครูเทวาประสิทธิ์ จางวางทั่ว และพระยาเสนาะฯ ก็เคยร่วมสวดคฤหัสถ์ปี่กันอยู่บ่อย ๆ โดยครูเทียบเป่าเป็นตัวตุ๊ย อันว่าการสวดคฤหัสถ์ปี่นี้ ถ้ามิใช่ผู้ที่เป่าปี่ได้ดังใจปรารถนาแล้วก็เป็นอันหมดโอกาสจะปฎิบัติได้ นอกจากนี้ครูเทียบยังเคยไปแสดงฝีมือเพื่อเผยแพร่นาฎศิลป์และดนตรีไทยในต่างประเทศ เช่น ประเทศลาว พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย เยอรมันและญี่ปุ่น เป็นที่สนใจของชาวต่างประเทศทั้งหลายยิ่งนัก มีหลายคนที่ติดตามมาขอหัดปี่ที่บ้านของครูเทียบด้วยความชื่นชมหลงใหลในฝีมือ 

สำหรับราชการในกรมศิลปากรนั้น ครูเทียบก็ได้เป็นธุระเอาใจใส่ไม่ขาดตกบกพร่อง ครั้งหลังสุดครูเทียบได้ร่วมบันทึกเสียงกับกรมศิลปากรเพื่อเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติหลายต่อหลายเพลง 

ผลงานที่ครูเทียบภาคภูมิใจและถือว่าสำคัญที่สุดในชีวิตก็คือ การเป่าปี่แสดงฝีมือเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ณ พระตำหนักไทยเรือนต้น ภายในพระราชวังจิตรลดารโหฐาน และได้ทำปี่ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย ๑ เลา ณ พระราชวังไกลกังวล เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๑๗ ครั้นต่อมาได้ถวายแบบฝึกหัดเป็นโน้ตสากล และเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกหลายครั้ง 

นอกจากฝีมือทางดนตรีแล้ว ครูยังมีฝีมือทางด้านช่างด้วยเป็นอย่างดี ฝีมือกลึงปี่ตัดลิ้นปี่และทำกำพวดปี่ของครูนั้นไม่มีใครสู้ ท่านเป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เห็นว่า ฝีมือชั้นสูงอันละเมียดละไมทั้งปวง ย่อมมีจุดร่วมเป็นจุดเดียวกัน แม้จะไม่เคยร่ำเรียนวิชาดนตรีของตะวันตกมาก่อน แต่ครูเทียบก็ชอบฟังเพลงคลาสสิคของตะวันตกไม่ใช่น้อยและฟังอย่างผู้รู้มิใช่สักแต่ว่าฟังเท่านั้น 

มีทรรศนะเกี่ยวกับดนตรีไทยของครูเทียบอยู่อันหนึ่ง ที่สมควรบันทึกไว้ในที่นี้เป็นสำคัญ ครูเทียบเคยพูดไว้กับ ม.ล.ธีรบุตร สุขสวัสดิ์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๗ ความว่า  

“ดนตรีไทยที่ว่าไม่เข้ายุคสมัย ยืดยาดนั้นไม่จริง เพราะถ้าเปรียบเทียบกับสากล เขาก็มีช้ามีเร็วเช่นกัน อีกนัยหนึ่งจะว่าดนตรีของเราเล่นช้าไม่ได้เพราะนั่นเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเรา” 

ชีวิตครอบครัวของครูเทียบ ท่านสมรสกับ น.ส.สว่าง วิเชียรปัญญา มีบุตรธิดาด้วยกันทั้งสิ้น ๑๒ คน ดังนี้ หญิง ชื่อแหวน ชาย ชื่อทวี ชาย ชื่อธวัช ชาย ชื่อรัศมี หญิงถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๑๕ วัน หญิง ชื่ออารมณ์ ชาย ชื่อทวีป ชาย ชื่อถวัลย์ ชาย ชื่อสุทัศน์ หญิง ชื่ออุษณีย์ ชาย ชื่อปิ๊บ ชาย ชื่อวิวัฒน์

พิชิต ชัยเสรี 

(เรียบเรียงจาก หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเทียบ คงลายทอง ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๕)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.