ประกอบ สุกัณหะเกตุ
(พ.ศ. ๒๔๕๙- ๒๕๓๑)
นายประกอบ สุกัณหะเกตุ เป็นนักดนตรีไทยที่ชำนาญด้านเครื่องสาย เป็นผู้มีประสบการณ์ในวงการดนตรีไทยมาก เกิดเมื่อวันท่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ในบริเวณวังหน้า ปัจจุบันนี้คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นบุตรของนายขำ และนางทองคำ บิดามีอาชีพรับราชการ ตาและยายมีนามว่า ชื่นและปลื้ม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๔ คน คนโต คือ นายแพทย์ขุนเกตุทัศนพยาธิ ซึ่งเป็นนักดนตรีไทยสมัครเล่นคนหนึ่งสามารถบรรเลงขลุ่ยได้ มีพี่สาว ๓ คน ชื่อ เลื่อน สุนทรเภสัช เฉลิม วีรแพทย์โกศล และจิ้มลิ้ม ลีละชาติ ทั้ง ๓ คน ไม่เล่นดนตรีเลย ตัวนายประกอบเป็นคนสุดท้อง มีความสามารถในการบรรเลงเครื่องสายได้รอบวง
สมรสกับนางสาวสมสวาท เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ขณะที่มีอายุได้ ๒๐ ปี ภรรยาเป็นผู้ชอบฟังเพลงไทยมากและสามารถร้องเพลงไทยได้ มีบุตรธิดาด้วยกัน ๔ คน คนโต ชื่อ อนุศาสน์ เป็นนักดนตรีสามารถสีซอด้วงและเป่าแคนได้ดี คนที่ ๒ เป็นนักร้องอยู่กองดุริยางค์ทหารเรือ ชื่อ ขนิษฐา คนที่สาม ชื่อ อาษากิจ เป็นนักดนตรีไทยสีซออู้ และคนสุดท้อง ชื่อ ศรีอัปสร สามารถบรรเลงขิมและเล่นออร์แกนได้ดี
เริ่มเรียนหนังสือกับญาติที่อยู่ในบริเวณวังหน้า หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปัจจุบัน ต่อมาได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนราชบุรีวิทยาลัย จนจบชั้น ม. ๘ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ จากนั้นย้ายมาเรียนที่โรงเรียนนาฎดุริยางค์ ซึ่งปัจจุบันนี้คือ วิทยาลัยนาฎศิลป์ กรมศิลปากรจนได้รับประกาศนียบัตรจากวิทยาลัยแห่งนี้ ได้อุปสมบทที่วัดระฆังโฆษิตาราม เป็นเวลา ๑ พรรษา โดยมีพระราชโมฬีเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้เข้าทำงานอยู่ในแผนกดุริยางค์ไทย กองการสังคีต กรมศิลปากร ในตำแหน่งศิลปินตรี ต่อมาได้ย้ายไปอยู่กองวิทยาการ กรมโรงงานโลหะกรรม ในตำแหน่งประจำแผนก แล้วย้ายอีกทีมาอยู่กรมทรัพยากรธรณี ในที่สุดแห่งสุดท้ายที่ท่านทำงานอยู่ ก็คือ กรมการค้าภายใน ในตำแหน่งพนักงานกองควบคุมการค้า
การเข้าสู่วงการดนตรีไทยนั้น เนื่องมาจากได้ติดตามพวกพี่ ๆ และญาติเข้าไปเล่นดนตรีอยู่ในวังของเจ้านายหลายพระองค์ ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และมีความรักดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ จึงพยายามฝึกฝน ครูคนแรกคือ พ.ท.สราวุธ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา เริ่มต้นเรียนตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๐ เมื่ออายุประมาณ ๑๑ ปี เพลงแรกที่เรียน คือ เพลงแขกมอญบางขุนพรหมเถา พ.ท.สราวุธ สอนให้เป่าขลุ่ย และโทนรำมะนา นอกจากเพลงแขกมอญบางขุนพรหมเถาแล้ว ได้ต่อเพลงแขกแดงเถา พระจันทร์ครึ่งซีกเถา และต่อเดี่ยวไวโอลิน เพลงเชิดนอก ครูคนที่ ๒ คือ หลวงประดิษฐไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) เมื่อครั้งที่เข้ามาในโรงเรียนนาฎดุริยางค์แล้ว ได้ทำหน้าที่เป็นคนสีซอด้วง ประจำวงศรทองด้วย หลวงประดิษฐไพเราะ ต่อเพลงลาวแพน ทางเดี่ยวไวโอลินให้ และเพลงอื่น ๆ เช่น อะแซหวุ่นกี้เถา ยวนเคล้าเถา และพญาสี่เสาเถา เป็นต้น ครูคนที่ ๓ คือครูสอน วงฆ้อง เป็นผู้จับมือให้ตีฆ้องวงใหญ่ เพลงสาธุการ และได้สอนต่อมาจนตีเพลงหน้าพาทย์ ได้ถึงเพลงองค์พระพิราพ อันเป็นเพลงหน้าพาทย์สูงสุด ความสามารถของนายประกอบนั้นสามารถบรรเลงดนตรีและขับร้องได้ทั้ง ๒ อย่าง เครื่องดนตรีที่ถนัดมาก ได้แก่ ซอด้วง ออร์แกน ไวโอลิน และซออู้ เพลงที่ชอบบรรเลงอยู่เสมอ ได้แก่เพลงแขกสาหร่าย เพลงเทพหาวเหิน เพลงสารถี เพลงนกขมิ้น เพลงลาวแพน และสามารถสีซออู้เพลงหุ่นกระบอกได้ดี และขับเสภาได้ด้วย ครูที่สอนขับร้องคนแรก คือ ครูชิ้น ศิลปบรรเลง ตั้งแต่ครั้งยังเรียนอยู่ในโรงเรียนนาฏดุริยางค์ ครูนิภา อภัยวงศ์ และ พ.ท.สราวุธ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ก็เคยต่อร้องให้นายประกอบ เพลงที่ร้องได้ดี มีเพลงเทพรัญจวนเถา เพลงสารถี และเพลงหกบทเถา ชอบร้องเพลงกับวงเครื่องสายไทยมากว่าวงดนตรีประเภทอื่น ๆ
เริ่มถ่ายทอดวิชาการดนตรีให้แก่ผู้อื่นตั้งแต่อายุประมาณ ๒๐ ปี และเป็นครูสอนดนตรีให้แก่สถาบันต่าง ๆ อาทิ เช่น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนดรุโณทยาน โรงเรียนวัดสังเวช โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย โดยสอนด้วยวิธีท่องจำและใช้ตัวโน้ตควบคู่กัน แต่งเพลงได้ทั้งทางร้องและทางเดี่ยว เคยแต่งเพลงโหมโรงจันทร์แจ่มวนา โหมโรงสุริยาเรืองศรี โหมโรงเอื้องเหนือ เพลงเมาะลำเลิงเถา และเพลงอื่น ๆ อีกหลายเพลง
งานเผยแพร่ดนตรีไทยนั้น ได้ออกแสดงครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ ๑๗ ปี โดยแสดงการเดี่ยวซอด้วง เมื่อไปบรรเลงกับวงของ พ.ท.สราวุธ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา นอกจากนี้ยังได้ร่วมแสดงดนตรี ณ โรงละครเก่า กรมศิลปากร ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนในโรงเรียนนาฏดุริยางค์ด้วย
งานบันทึกเสียงนั้น เริ่มบันทึกเสียงครั้งแรกกับบริษัท ยีนซีมอน เพลงชุดแรกที่บันทึก คือ เพลงชุด ๓ ลาว อันมีเพลงลาวคำหอม ลาวดวงเดือน และเพลงลาวดำเนินทราย บรรเลงติดต่อกัน ครั้งที่ ๒ บันทึกร่วมกับวงดนตรีคณะเตชนะเสนีย์ ในความควบคุมของครูเจือ เสนีย์วงศ์ ที่ห้องบันทึกเสียงบริษัทกมลสุโกศลจำกัด บันทึกเพลงสองชั้นไว้หลายเพลง ครั้งที่ ๓ บันทึกเสียงกับคณะสิทธิ ถาวร ของครูประสิทธิ์ ถาวร เป็นการบันทึกลงแถบบันทึกเสียงหลายม้วนด้วยกัน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ และเป็นผู้เดี่ยวไวโอลินนำในรายการวิทยุและโทรทัศน์ต่าง ๆ หลายรายการ เช่น รายการก่อนนิทรา ทางสถานีวิทยุ ททท. เป็นต้น
รางวัลทางดนตรีไทยที่เคยได้รับ คือ ได้รับพระราชทานเข็มที่ระลึกสำหรับนักดนตรีไทย จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯ
นายประกอบมีความสามารถในการเล่นเครื่องสายได้ดี เป็นคนแม่นเพลงมาก บรรเลงได้ตั้งแต่จังหวะช้า อ่อนหวานจนถึงเพลงจังหวะเร็วมาก และสามารถเขียนโน้ตเพลงได้ทั้งโน้ตสากลแบบตะวันตก โน้ตแบบตัวเลขหรือโน้ตแบบตัวหนังสือ (ด.ร.ม.ฟ.) นับได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความสามารถยิ่งในวงการดนตรีไทย
นายประกอบถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๓๑ รวมอายุได้ ๗๒ ปี
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก แถบบันทึกข้อมูลซึ่งนายประกอบ สุกัณหะเกตุ เป็นผู้ให้รายละเอียด เมื่อ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.