ตอนที่ 64 ประวัติและผลงานของครูเพ็ชร์รัตน์ (สมประสงค์ รัตนทัศนีย์)

ตอนที่ 64 ประวัติและผลงานของครูเพ็ชร์รัตน์ (สมประสงค์ รัตนทัศนีย์)

 

ตอนที่ 64 ประวัติและผลงานของครูเพ็ชร์รัตน์ (สมประสงค์ รัตนทัศนีย์)
ชื่อเพลง : เพลงใจฉันใจเธอ
ผู้ขับร้อง : เพ็ชร์รัตน์ (สมประสงค์ รัตนทัศนีย์) และชะอวบ ฟองกระสินธุ์
ผู้ประพันธ์คำร้อง : เพ็ชร์รัตน์ (สมประสงค์ รัตนทัศนีย์)
ชื่อเพลง : เพลงกะเหรี่ยงตัด
ผู้ขับร้อง : สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม ทองแถม และสถิตย์
ผู้ประพันธ์คำร้อง : เพ็ชร์รัตน์ (สมประสงค์ รัตนทัศนีย์)
ชื่อเพลง : เพลงนัดพบ
ผู้ขับร้อง : เชื่อม บุญเกียรติ
ผู้ประพันธ์คำร้อง : เพ็ชร์รัตน์ (สมประสงค์ รัตนทัศนีย์)
ชื่อเพลง : เพลงนัดพบ
ผู้ขับร้อง : นงลักษณ์ โรจนพรรณ
ผู้ประพันธ์คำร้อง : เพ็ชร์รัตน์ (สมประสงค์ รัตนทัศนีย์)
ชื่อเพลง : เพลงเกาะกุหลาบ
ผู้ขับร้อง : ประทุม ประทีปเสน
ผู้ประพันธ์คำร้อง : เพ็ชร์รัตน์ (สมประสงค์ รัตนทัศนีย์)
ความยาว : 30.48 นาที
รายละเอียด : ประวัติครูเพ็ชร์รัตน์ (สมประสงค์ รัตนทัศนีย์) เป็นลูกคนเดียวของพระยาใหม่มานุภาพ (เต๋า รัตนทัศนีย์) เกิดที่ตำบลบางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร ปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2444 สมัยเด็กเริ่มเรียนที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย) เป็นนักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ จนจบมัธยมปีที่ 6  และเรียนต่อ มัธยมปีที่ 7-8 ที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ ด้วยนิสัยที่รักดนตรี ได้หัดดนตรีไทยตั้งแต่เล็ก โดนหัด ซอด้วง ซออู้ เป่าขลุ่ย ตีโทนรำมะนา ได้ดี ชอบอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ แต่งบทกลอน ตั้งแต่ยังเล็ก ในขณะเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ได้แต่งบทละครสำหรับเล่นกันเอง เมื่ออายุได้ 20 ปี พ.ศ. 2464 ได้เขียนบทละครถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย โดยแต่งละครเรื่อง “สองกำพร้า” ซึ่งในขณะนั้นใช้นามปากกาว่า “รัตน์ หรือ รัตน” และแสดงเป็นพระเอก นายนุ้ย บุญนาค แสดงเป็นนางเอก นายวิลาศ โอสถานนท์ แสดงเป็นพระรอง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดละครเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง ทรงถามถึงผู้ประพันธ์บทละคร และพระราชทานนามปากกาให้ใหม่ว่า “เพ็ชร์รัตน์” เมื่อจับมัธยมปีที่ 8 แล้วก็เดินทางไปกับคณะละครต่างๆ และได้เข้าไปอยู่กับคณะละครร้องคณะปราโมทย์  ของคุณแม่เมือง หนูนิมิตร ซึ่งมีแม่เสงี่ยม กลิ่นหอม เป็นพระเอก คุณแม่สงวน ตันเศษ เป็นนางเอก และได้ประพันธ์เรื่อง “ตุ๊กตาแสนกล” แสดงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2468 ได้ค่าประพันธ์ 30 บาท ถ้าละครเรื่องไหนเล่นได้มีกำไรดี ก็จะได้เพิ่มอีก 30 บาท ถ้าเป็นผู้กำกับการแสดงก็จะได้อีกคืนละ 10 บาท
ในปี 2468-2470 ซึ่งตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ก็ได้เดินทางไปแสดงตามจังหวัดต่างๆ โดยไม่กลับมาหาครอบครัวเลย และในปี พ.ศ. 2470 จึงได้แต่งงานกับนางเอกคือ สงวน ตันวิเศษ ทำให้โดนตัดขาดจากวงตระกูล
ในต่อมาก็ได้จัดตั้งวงละครขึ้นเอง ในปี พ.ศ. 2470 มีคุณพเยาว์ เป็นพระเอก คุณสงวน เป็นนางเอก และในปี 2471 กลับมาฌาปนกิจศพเจ้าคุณพ่อที่กรุงเทพฯ เล่ากันว่าท่านถูกโกงมรดกก็เลยออกจากบ้านไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับครอบครัวอีกเลย หันไปใช้ชีวิตกับละคร ท่านได้ร่วมงานกับพรานบูรณ์ และคณะละครร้องต่างๆ ได้แต่งเพลง บางครั้งก็ขับร้องเพลงในละครเรื่องนั้นด้วย จนกระทั่ง นาย ต. เง๊กชวน เห็นว่าเสียงดี และมีความสามารถสูง จึงได้เชิญให้มาบันทึกแผ่นเสียง (แผ่นเสียงตรากระต่าย)
“เพลงใจฉันใจเธอ” ขับร้องโดย เพ็ชร์รัตน์ (สมประสงค์ รัตนทัศนีย์) และชะอวบ ฟองกระสินธุ์
ต่อมาครูเพ็ชร์รัตน์ ได้รับการติดต่อจาก นายประสาท ส. ตันสกุล ให้เป็นผู้จัดการบริษัทละครนิยมไทย เวิ้งนครเกษม และได้ตั้งคณะละครเพ็ชรโรภาส เป็นของตนเอง เมื่อปี พ.ศ. 2481ได้ร่วมงานกับพรานบูรพ์ คณะจันทโรภาส ได้แต่งละครไว้เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 70 เรื่อง ท่านได้ร่วมงานกับพรานบูรพ์ในละครเรื่อง “ดงกะเหรี่ยง” ได้นำเพลงสำเนียงกระเหรี่ยงมาดัดแปลงเป็นเพลงไทยสากล คือ “เพลงกะเหรี่ยงตัด” เป็นผลงานที่ครูเพ็ชร์รัตน์ร่วมทำกับพรานบูรณ์
“เพลงกะเหรี่ยงตัด” ขับร้องโดย สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม ทองแถม และสถิตย์
เมื่อปี พ.ศ. 2478 ครูเพ็ชร์รัตน์ ได้ทำบทพากย์ภาพยนตร์จีนเป็นภาษาไทย “เรื่องแม่เทพธิดา” และ”เรื่องจันทร์จ๋า” พากย์ร่วมกับนางสาวเชื่อม บุญเกียรติ ซึ่งต่อมาได้ร้อง “เพลงนัดพบ” ที่ครูเพ็ชร์รัตน์เป็นผู้แต่ง
“เพลงนัดพบ” ขับร้องโดย เชื่อม บุญเกียรติ ประพันธ์บทร้องโดยครูเพ็ชร์รัตน์ (สมประสงค์ รัตนทัศนีย์)
ในเวลาต่อมา โทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม โดยคุณจำนง รังสิกุล และคณะ ได้นำเพลงนัดพบ ออกอากาศเสมอๆ จนกระทั่งมีชื่อเสียงจนถึงทุกวันนี้ และมีแผ่นเสียงเพลงนัดพบ ที่คุณนงลักษณ์ โรจนพันธ์ ขับร้อง ไว้ในสมัยนั้น เทวตาล เมืองถ้ำ
“เพลงนัดพบ” ขับร้องโดย นงลักษณ์ โรจนพรรณ ประพันธ์บทร้องโดยครูเพ็ชร์รัตน์ (สมประสงค์ รัตนทัศนีย์)
งานละครที่ครูเพ็ชร์รัตน์ เช่น เรื่อง กะลามรดก ปลาหลงฝูง กระดี่ได้น้ำ  เสียงไก่แก้ว วิมานลอยฟ้า นางกระต่ายดง เทวตาล เมืองถ้ำ ฯลฯ นอกจากนี้แล้วท่านยังได้ร้องเพลงไว้กับบริษัทแผ่นเสียง เต๊กฮวด ตราลิง และได้ร้องเพลงไว้หลายเพลง เช่น “เพลงเสียงสงคราม เพลงหอมหวลยวญใจ เพลงหนามกุกลาบ เพลงดอกไม้ดอกนี้ เพลงสามปอย เพลงฟ้ามุ่ย “ ฯลฯ
“เพลงเกาะกุหลาบ” ขับร้องโดย ประทุม ประทีปเสน  ประพันธ์คำรค้องโดยครูเพ็ชร์รัตน์ (สมประสงค์ รัตนทัศนีย์) จากละครเรื่องเกาะกุหลาบ
หัวเรื่อง : เพลงไทยสากลจากอดีต ตอนที่ 64
หัวเรื่อง : เพลงไทยสากลระยะแรกเริ่ม
หัวเรื่อง : รายการเพลงไทยสากลจากอดีต ตอนที่ 64
ผู้จัดรายการ : พูนพิศ อมาตยกุล
สถานที่จัดเก็บ :  https://sirindhornmusiclibrary.li.mahidol.ac.th/thai_contemporary_mu/plengthaisakol64/ ‎