ตอนที่ 54 เพลงไทยสากลที่ได้ทำนองมาจากเพลงไทยแท้หรือเพลงไทยเดิม

ตอนที่ 54 เพลงไทยสากลที่ได้ทำนองมาจากเพลงไทยแท้หรือเพลงไทยเดิม

 

ตอนที่ 54 เพลงไทยสากลที่ได้ทำนองมาจากเพลงไทยแท้หรือเพลงไทยเดิม
ชื่อเพลง : เพลงไทรโยคงาม
ผู้ขับร้อง : เฉลา ประสพศาสตร์
ชื่อเพลง : เพลงล่องน่าน
ผู้ขับร้อง : วัฒนา บุญยเกียรติ
ชื่อเพลง : เพลงแขกสาหร่าย
ผู้ขับร้อง : ลัดดา สารตายน และ อุโฆษ จันทร์เรือง
ชื่อเพลง : เพลงอิเหนารำพึง
ผู้ขับร้อง : ชรินทร์ นันทนาคร
ชื่อเพลง : เพลงเชิญน้องลองรัก
ผู้ขับร้อง : ผาสุก (ไม่ทราบสกุล) และ ดวงรัตน์ (ไม่ทราบสกุล)
ความยาว : 30.44 นาที
รายละเอียด : 
เพลงไทยสากลซึ่งได้ท่วงทำนองมาจากเพลงไทยแท้ของเก่าหรือเพลงไทยเดิม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ได้ทรงเป็นนักดนตรีคนแรกที่ได้เปลี่ยนแปลงลักษณะของเพลงไทยของเก่าให้ออกมาเป็นลักษณะลีลาอย่างฝรั่ง ต่อมาก็มีพรานบูรพ์ เรือโทมานิต เสนะวีณิน ซึ่งเป็นสองคนที่เป็นหลักสำคัญในการที่นำเพลงไทยของเก่ามาเปลี่ยนแปลงเป็นลักษณะของเพลงไทยสากล ครั้งต่อมาในปี 2482 เมื่อกรมประชาสัมพันธ์ได้สร้างวงดนตรีขึ้นในครั้งนั้นเรียกว่า วงดนตรีกรมโฆษณาการ ครูแก้ว อัจฉริยกุล ครูเอื้อ สุนทรสนาน และครูเวส สุนทรจามร สามท่านนี้ก็เป็นหัวแรงสำคัญในการที่นำทำนองเพลงไทยของเก่า มาปรับปรุงขึ้นเป็นเพลงไทยสากล
การนำเพลงไทยของเก่ามาทำเป็นเพลงไทยสากลนั้น ได้กระทำกันในนักดนตรีหลายกลุ่มด้วยกัน วงดนตรีของกองทัพบกก็มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเพลงไทยสากลในยุคที่นำทำนองจากเพลงไทยของเก่ามาประดิษฐ์ขึ้น นักร้องในยุคนั้นมีหลายคน เช่น ปรีชา บุญญเกียรติ วัฒนา บุญยเกียรติ เฉลา ประสพศาสตร์ ได้ร้องเพลงไว้ในแผ่นเสียงเก่าหลายเพลงด้วยกัน ลีลาของการเปลี่ยนแปลงของวงดนตรีคณะดุริยะโยธิน หรือวงดนตรีของกองทัพบกได้นำเพลงเขมรไทรโยคของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งได้นิพนธ์ไว้ในปี 2431 สมัยรัชกาลที่ 5 นำมาทำเป็นทางสากลใหม่ และให้ชื่อเพลงนี้ว่า ไทรโยคงาม การที่จะทำเพลงนี้ให้เป็นสมัยใหม่ขึ้นในยุคนั้นก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำ Introduction ให้มีลีลาเป็นฝรั่งจนบางครั้งไม่สามารถเดาได้ว่าเพลงนี้เป็นเพลงซึ่งมาจากเพลงเขมรไทรโยค เพลงชื่อ ไทรโยคงาม คุณเฉลา ประสพศาสตร์ เป็นผู้ขับร้องคนแรก
เพลงล่องน่าน เป็นเพลงจากภาคพื้นพายัพ เดิมเป็นเพลงซอเรียกว่า ซอล่องน่าน เป็นเพลงที่ทำนองเยือกเย็นน่าฟัง แต่บางครั้งผู้ที่นำเค้าทำนองของเพลงนี้มาดัดแปลงเป็นเพลงไทยสากลจนบางครั้งเกือบจะจำทำนองเพลงไม่ได้ เว้นเสียแต่จะตั้งใจฟังเพลงจริง ๆ และคอยจับดูให้ได้ก็จะปรากฏว่าเป็นเพลงเก่าแต่ว่าปรุงใหม่จนกระทั่งเป็นเพลงไทยสากล วงดุริยะโยธินของกองทัพบก ซึ่งขณะนั้นมี คุณวัฒนา บุญยเกียรติ เป็นนักร้องชายที่สำคัญ ท่านก็ได้ขับร้อง เพลงชื่อล่องน่าน เป็นการบรรยายภูมิภาคของภาคเหนือ ซึ่งในยุคนั้นป่าเขาลำเนาไพรยังไม่ถูกทำลาย บรรยายกาศก็เยือกเย็นสุขสบายแล้วธรรมชาติงดงามเป็นอย่างยิ่ง ลีลาเพลงล่องน่านก็ยังคงมีเหลืออยู่บ้างแต่ไม่ชัดเจนทีเดียว แต่ก็ยังคงให้ชื่อเพลงนี้ว่าเพลงล่องน่านดังเดิม นั่นเป็นวิธีที่นักดนตรีไทยสากลในสมัยก่อนพิจารณาแล้วก็ปรับให้เกิดเป็นเพลงใหม่ขึ้น โดยใช้ทำนองพื้นเมืองของเก่ามาเป็นตัวตั้งตัวต้นแบบ
ในการที่จะนำเพลงพื้นบ้านหรือเพลงไทยของเก่ามาทำเป็นเพลงไทยสากลนั้นมีมากมายด้วยกันหลายวิธี อีกวิธีหนึ่งก็คือนำมาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ บรรเลงด้วยวงออร์เคสตร้าขนาดใหญ่ เช่นงานของ อาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง และอาจารย์ลัดดา ซึ่งเคยเปิดเป็นโรงเรียนสอนเรียกว่าโรงเรียนผกาวลีขึ้น อาจารย์ลัดดา สารตายนก็เคยเป็นนักร้องเก่าตั้งแต่สมัยอยู่กับวงของกรมศิลปากร คืออยู่ในโรงเรียนนาฏดุริยางค์ซึ่งพลตรีหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ตั้งขึ้น แล้วก็เคยเล่นละครของหลวงวิจิตรวาทการมาก่อน
อาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง ซึ่งเป็นบุตรชายของท่านหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้นำเอาตัวอย่างเพลงมานำเสนอคือ เพลงแขกสาหร่าย ซึ่งดั้งเดิมนั้นเป็นเพลงของจ่าเผ่นผยองยิ่ง (จ่าโคม) ได้แต่งไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สำหรับร้องเล่นสักวา ต่อมาเพลงนี้ก็ได้รับความนิยมสูงในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยทรงนำมาบรรจุไว้ในละครเรื่องวิวาห์พระสมุทร ในที่สุดเพลงแขกสาหร่ายก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นเพลงลักษณะของเพลงไทยสากลซึ่งบรรเลงด้วยวงออร์เคสตร้าขนาดใหญ่ คงให้ชื่อเดิมว่า แขกสาหร่าย โดย ลัดดา สารตายน เป็นผู้ขับร้องคู่กับ คุณอุโฆษ จันทร์เรือง บรรเลงโดยวงออร์เคสตร้าขนาดใหญ่ ในความควบคุมของครูประสิทธิ์ ศิลปบรรเลงซึ่งเป็นคนแยกเสียงประสาน
เพลงไทยนั้นมีจำนวนมากมาย คนที่มีความรู้พื้นฐานดนตรีไทยดีสามารถหยิบยกเอาเพลงไทยเหล่านั้นมาทำเป็นเพลงไทยสากลไม่รู้จักจบจักสิ้น หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้ทำเพลงขึ้นเพลงหนึ่งชื่อว่าเพลงแขกขาวสองชั้น เป็นเพลงที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งที่ท่านไปช่วยทูลกระหม่อมอัษฎางค์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา ที่วังสวนกุหลาบ ทำเพลงในชุดตับนางลอยแล้วก็ประดิษฐ์เพลงขึ้นใหม่ใส่ลงไปในตับนางลอยของเก่าแล้วตั้งชื่อเพลงนี้ว่าเพลงแขกขาวสองชั้น จากนั้นครูสมาน กาญจนะผลิน ซึ่งก็เจริญเติบโตเกิดมาในวงดนตรีไทย ท่านได้หันเหมาสู่ดนตรีสากล ความสามารถในด้านดนตรีไทยของท่านก็ยังปรากฏติดตัวของท่านต่อมา ท่านจึงมีขุมเพลงไทยจำนวนมากแล้วท่านก็หยิบออกมา เอามาร่วมคิดกับครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ และเพื่อนของท่านอีกหลายคน ทำให้กำเนิดเพลงไทยสากลขึ้นเป็นอันมากโดยมีทำนองเป็นของเก่าและตั้งชื่อเพลงนั้นใหม่ ดังเช่นตัวอย่างเพลง อิเหนารำพึง และแท้จริงก็คือทำนองเพลงแขกขาวสองชั้น และมอบหมายให้คุณชรินทร์ นันทนาคร เป็นผู้ขับร้องเป็นคนแรก ตั้งแต่ครั้งที่ชรินทร์ ยังใช้นามว่า ชรินทร์ งามเมือง
เพลงอิเหนารำพึง จะสังเกตได้ว่า ครูสมาน กาญจนะผลิน ผู้ผลิตเพลงนี้ ไม่ได้ทิ้งความเป็นไทยไปจากเพลงแขกขาวของเก่าที่ครูหลวงประดิษฐไพเราะได้ขึ้นคิดไว้ โดยที่ท่านได้ใส่สิ่งสำคัญไว้ ประการแรก ก็คือ ลีลา ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ขึ้นต้นลงจบหรือตอนท้าย ท่านลงลูกหมดแขก ซึ่งเป็นเพลงสำเนียงแขกเอาไว้ นอกจากนั้นท่านยังสอดวงมโหรีไทยเข้ามาในตอนกลางของเพลง เพื่อที่จะให้บรรเลงแยกกันกับวงดนตรีคอมโบหรือวง big band วิธีการที่แบ่งกันบรรเลงคนละตอน ครูสมาน กาญจนะผลิน ให้ชื่อว่า สังคีตประยุกต์
เพลงสุดท้ายเป็นงานของ คณะมิตรสังคม ซึ่งแยกเสียงประสานในจังหวะกัวราช่า ใช้เพลงต้นวรเชษฐ์ของเก่า ให้คุณผาสุก และคุณดวงรัตน์ ร้องชายหญิง ร้องคู่กัน ในเพลงที่ชื่อว่า เชิญน้องลองรัก ทำนองเพลงต้นวรเชษฐ์ของไทยเก่าแก่ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้แต่งทำนองของเก่านั้นไว้ แล้วหยิบมาใช้กันในเพลงไทยสากล ลูกทุ่ง ลูกกรุง อะไรกันตามสบาย โดยที่ไม่ต้องขอลิขสิทธิ์ เพราะไม่ทราบว่าต้นฉบับใครเป็นคนแต่ง
หัวเรื่อง : เพลงไทยสากลจากอดีต ตอนที่ 54
หัวเรื่อง : เพลงไทยสากลที่ได้ทำนองมาจากเพลงไทยแท้หรือเพลงไทยเดิม
หัวเรื่อง : รายการเพลงไทยสากลจากอดีต ตอนที่ 54
ผู้จัดรายการ : พูนพิศ อมาตยกุล
สถานที่จัดเก็บ : https://sirindhornmusiclibrary.li.mahidol.ac.th/thai_contemporary_mu/plengthaisakol-54/ ‎