ตอนที่ 152 เพลงสังคีตสัมพันธ์ ตอนที่ 1

ตอนที่ 152 เพลงสังคีตสัมพันธ์ ตอนที่ 1

ตอนที่ 152 เพลงสังคีตสัมพันธ์ ตอนที่ 1
ชื่อเพลง : เพลงเจริญศรี
ผู้ขับร้อง : พูลศรี เจริญพงษ์
เทียบเสียงวงมโหรีกรมประชาสัมพันธ์โดย : พุ่ม บาปุยะวาทย์ และเอื้อ สุทรสนาน
ชื่อเพลง : เพลงรักบังใบ
ผู้ขับร้อง : รวงทอง ทอง
ผู้ประพันธ์คำร้อง : ชอุ่ม ปัญจพรรค์
ชื่อเพลง : เพลงเพชรน้อย
ผู้ขับร้อง : วินัย จุลละบุษปะ
ชื่อเพลง : เพลงพุ่มพวงดวงใจ
ผู้ขับร้อง : วินัย จุลบุษปะ และชวลี ช่วงวิทย์
ผู้ประพันธ์คำร้อง : แก้ว อัจฉริยะกุล
ความยาว : 30.54 นาที
รายละเอียด : การนำเพลงไทยแท้ๆ มาเปลี่ยนเป็นเพลงไทยสากล เริ่มตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ต้นรัชกาลที่ 6 โดย สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งได้ทรงนำเพลงไทยเดิมแท้ๆ เช่น เพลงหน้าพาทย์บาทสกุณี เพลงหกบท นำมาเป็นทางเดี่ยว เป็นต้น
                มาถึงระยะที่ 2 ในสมัยรัชกาลที่ 7 มีผู้นำเอานำเพลงไทยแท้ๆ มาทำเป็นเพลงไทยสากล เล่นด้วยเครื่องดนตรีฝรั่ง ใส่เนื้อกลอนเพลงสมัยใหม่ลงไปเป็นเนื้อเต็มโดยไม่มีเอื้อน เช่น เพลงของพรานบูรณ์ เพลงของแม่เลื่อน เพลงของแม่บุนนาค เป็นต้น ต่อมามีผู้นำเพลงไทยมาเปลี่ยนเนื้อร้องอย่างเพลงตะวันตก ตัดเอื้อนออกแล้วใส่เนื้อเพลงลงไปเต็มๆ หรือใช้ดนตรีในการสอดแทรก เช่น ผลงานของเรือโทมานิตย์ เสนะวีณิน งานของพรานบูรณ์ (ระยะหลัง) งานของนารถ ถาวรบุตร ต่อมาเป็นงานของเอื้อ สุนทรสนาน เวช สุนทรจามรในปี พ.ศ. 2482-2485 ต่อมามีนักแต่งเพลงอีกหลายคน เช่น งานของไสล ไกรเลิศ สมาน กาญจนผลิน เป็นต้น เพลงเหล่านี้เรียกว่าเพลงไทยที่ได้จากทำนองเพลงไทยเดิม หรือเพลงทำนองไทยเดิมแต่เนื้อร้องเป็นเพลงสมัยใหม่ เช่น งานของสุนทราภรณ์ ที่นำเอาเพลงไทยเดิมหลายๆ เพลงมาทำใหม่ให้ มัณฑนา โมรากุล ขับร้อง เช่นเพลงเสี่ยงเทียน เพลงลาวเสี่ยงเทียน เพลงคำหอม ซึ่งได้มาจากเพลงลาวคำหอม เพลงดำเนินทราย ซึ่งได้มาจากเพลงลาวดำเนินทราย เพลงดวงเดือนที่ได้มาจากเพลงลาวดวงเดือน เป็นต้น ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีเพลงสังคีตสัมพันธ์
            จนหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 จึงมีผู้คิดที่จะประสานผสมโดยเอาดนตรีฝรั่งประสมกับเพลงไทย หรือผสมกับวงดนตรีไทย เบื้องต้นเป็นไปอย่างยากมาก เนื่องจากเครื่องดนตรีไทยใช้เสียงคนละระดับกับดนตรีสากล
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีรำสั่งกับหลวงประดิษฐ์ไพเราะว่า วงดนตรีไทยน่าจะเล่นกับวงซิมโฟนี ออร์เคสตร้า (Symphony Orchestra) ของฝรั่งได้ หลวงประดิษฐ์ไพเราะได้นำไปปรึกษากับ อาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง (บุตร) อาจารย์ประสิทธิ์ คิดว่าไม่น่าจะทำได้ เนื่องจากเสียงคนละระดับกัน เพลงสำเนียงไทยถ้าจะนำไปเล่นกับเครื่องดนตรีฝรั่ง ต้องเขียนโน้ตใหม่ และต้องปรับเสียงให้เป็น scale ของดนตรีฝรั่ง การจะนำ2วงมาเล่นด้วยกันนั้นคงทำไม่ได้ อย่างไรก็ตามครูประสิทธิ์ ได้จัดทำถวายหลวงประดิษฐ์ไพเราะ และบอกว่าทำครั้งเดียวพอ เพราะไม่เพราะเท่าที่ควรจะเป็น และไม่เห็นว่าเป็นหลักการที่เหมาะสม
            จนกระทั่งมีผู้คิดว่าถ้าปรับเสียงของวงดนตรีไทยให้เท่ากับเสียงของวงดนตรีฝรั่งก็น่าจะเล่นด้วยกันได้ หมายความว่าวงมโหรี หรือวงปี่พาทย์ไทยจะต้องเปลี่ยนเสียงบรรเลงจากแนวเดิมที่เป็นแนวทางไทยหรือเสียงของวงดนตรีไทยที่เคยมีมาก่อน ต่อมาได้นำเครื่องดนตรีฝรั่งมาบรรเลงเพลงไทยประยุกต์ในจังหวะเต้นรำ ทำให้เกิดการประสานเสียงแบบฝรั่งแต่ยังคงลีลาอย่างไทย ใช้ดนตรีฝรั่งและเร่งจังหวะให้เป็นดนตรีฝรั่งทั้งหมด เรียกลักษณะการเล่นแบบนี้ว่า “วงดนตรีสังคีตประยุกต์” ที่นำเสนอครั้งแรกโดย สมาน กาญจนผลิน เป็นที่นิยมในหมู่คนเต้นรำเป็นอย่างมาก ต่อมาหม่อมหลวงขาบ กุญชร อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้มอบหมายให้ เอื้อ สุนทรสนาน และ พุ่ม บาปุยะวาทย์  นำวงมโหรีที่มีเสียงสูงของวงปี่พาทย์ธรรมดา ปรับเทียบเสียงให้เสมอวงคอมโบ้ขนาดใหญ่แล้วบรรเลงผสมกัน เรียกว่า “เพลงประสม” เนื่องจากเกิดขึ้นในกรมประชาสัมพันธ์ จึงเรียกวงประเภทนี้ว่า “วงสังคีตสัมพันธ์” ที่สำเร็จได้เพราะการเปลี่ยนเสียงวงมโหรีให้มีเสียงที่สูงขึ้นแล้วมาบรรเลงเท่ากับเครื่องดนตรีฝรั่ง เรียกเพลงประเภทนี้ว่า “เพลงสังคีตสัมพันธ์” กรมประชาสัมพันธ์บันทึกลงในแผ่นเสียงตราสุนัชหน้าสีแดง ของห้างกมลสุโกศล เป็นชุดแรก 3 เพลง  คือ เพลงเจริญศรี เพลงพรพรหม และเพลงวอนเฉลย
           “เพลงเจริญศรี” ขับร้องโดย พูลศรี เจริญพงษ์ เทียบเสียงวงมโหรีกรมประชาสัมพันธ์โดย พุ่ม บาปุยะวาทย์ และเอื้อ สุทรสนาน
           “เพลงพรพรหม” ขับร้องโดย สุนทราภรณ์ และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี ประพันธ์คำร้องโดย แก้ว อัจฉริยะกุล เทียบเสียงวงมโหรีกรมประชาสัมพันธ์โดย พุ่ม บาปุยะวาทย์
           “เพลงรักบังใบ” ขับร้องโดย รวงทอง ทองลั่นทม ประพันธ์คำร้องโดย ชอุ่ม ปัญจพรรค์
            ต่อมาการประสานเสียงของวงสังคีตสัมพันธ์ทำได้ชัดเจนมากขึ้น ครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ ได้มอบ “เพลงเป็ดน้อย” ซึ่งเป็นเพลงที่เกือบถูกลืมไปแล้ว แก่วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และให้วินัย จุลบุษปะ เป็นผู้ขับร้อง
           “เพลงเป็ดน้อย” ขับร้องโดย วินัย จุลปบุษปะ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์
           “เพลงพุ่มพวงดวงใจ” ขับร้องโดย วินัย จุลบุษปะ และชวลี ช่วงวิทย์ ประพันธ์คำร้องโดย แก้ว อัจฉริยะกุล
หัวเรื่อง : เพลงไทยสากลจากอดีต ตอนที่ 152
หัวเรื่อง : เพลงไทยสากลระยะแรกเริ่ม
หัวเรื่อง : เพลงสังคีตสัมพันธ์
หัวเรื่อง : รายการเพลงไทยสากลจากอดีต ตอนที่ 152
ผู้จัดรายการ : พูนพิศ อมาตยกุล
สถานที่จัดเก็บ : https://sirindhornmusiclibrary.li.mahidol.ac.th/thai_contemporary_mu/plengthaisakol-152/