ปลั่ง วนเขจร (พ.ศ. ๒๔๔๒ – ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

ปลั่ง วนเขจร (พ.ศ. ๒๔๔๒ – ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

ปลั่ง วนเขจร

(พ.ศ. ๒๔๔๒ – ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

 

นายปลั่ง วนเขจร เป็นนักดนตรีฝีมือดีมากในด้านการบรรเลงเครื่องสาย เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๒ ตรงกับวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุล ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีศักดิ์เป็นหลานน้าของหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น  ดูรยชีวิน) จึงได้เรียนสีซอกับคุณน้า บิดาของนายปลั่ง มีนามว่าปุ่น มารดาชื่อลับ เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี (พ.ศ. ๒๔๕๒) ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา และได้อยู่ในวังสวนกุหลาบอันเป็นที่ประทับมาแต่ครั้งนั้น การอยู่ในวังสวนกุหลาบนั้น ได้เรียนทั้งหนังสือและดนตรีไปพร้อม ๆ กัน จนอายุได้  ๒๒ ปี จึงบวชที่วัดเอี่ยมวรนุช มีสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นอุปัชฌาย์  

พ.ศ. ๒๔๗๑ หลังจากที่ทูลกระหม่อมอัษฎางค์ฯ ทิวงคตแล้ว ได้เข้ามาถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรับราชการตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑ สังกัดกองปี่พาทย์และโขนหลวง ในตำแหน่งพนักงานชั้น ๔ รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๒๐ บาท โดยประจำอยู่ที่กองปี่พาทย์วงที่ ๓ และย้ายมาอยู่กรมศิลปากรตามคำสั่งของทางราชการ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘  

นายปลั่งเป็นคนฝีมือซอจัดเจนมาก เก่งทั้งซอด้วงและซออู้ เคยเป็นครูสอนซอแก่นักเรียนในโรงเรียนนาฏดุริยางค์ (วิทยาลัยนาฏศิลป ปัจจุบัน) และเป็นครูคนหนึ่งของอาจารย์ประเวช กุมุท ถึงแก่กรรมด้วยโรควัณโรค  ไม่ทราบวันเดือนปีที่ถึงแก่กรรม

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรีบบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติของกรมมหร สำนักพระราชวัง)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.