ประสิทธิ์ ถาวร
(พ.ศ. ๒๔๖๔-๒๕๔๕)
นายประสิทธิ์ ถาวร ป็นนักดนตรีและอาจารย์สาขาดุริยางคศาสตร์ ที่มีทั้งฝีมือและวิชาความรู้ดีมากที่สุดคนหนึ่งของวงการดนตรีไทย เกิดที่ตำบลท่าเจ้าสนุก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุทธยา เมื่อวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔ บิดาซื่อ นายสุด เป็นนักเทศน์ ที่มีชื่อเสียงมาก มารดาชื่อ นางฟู มีพี่น้องร่วมบิดามารดารวม ๖ คน และเป็นคนเดียวของครอบครัวที่เป็นนักดนตรีไทย
เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลวัดสฏางค์ เมื่ออายุ ๗ ปี จนอายุได้ ๑๓ ปี จึงมาเรียนต่อเป็นนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนนาฏดุริยางค์ กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ จบชั้นมัธยมปีที่ ๓ และเข้ารับการอบรมหลักสูตรวิชาดุริยางค์ไทยเพิ่มเติมจากกรมศิลปากรอีก ๑ ปี จนได้รับประกาศนียบัตร ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒
หัดดนตรีไทยครั้งแรกเมื่อเรียนชั้นประถมศึกษากับพี่เขยชื่อ ครูละมุด จำปาเฟื่อง เรียนได้เร็วและมีฝีมือดี จนได้เป็นคนระนาดเอกประจำวงปี่พาทย์ของพี่เขยมาตั้งแต่อายุยังไม่ครบ ๑๒ ปี จากนั้นได้เรียนระนาดเพิ่มเติมจากครูเจริญ ดนตรีเจริญ (หลานครูสุ่ม ดนตรีเจิญ) จนได้เพลงเดี่ยวระนาด เช่น พญาโศก และเชิดนอก
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ อายุได้ ๑๓ ปี ก่อนเข้าโรงเรียนนาฏดุริยางค์ ได้มาสมัครเป็นศิษย์ของท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และได้เรียนดนตรีที่บ้านบาตรติดต่อกันมาจนถึงวาระสุดท้ายของ ท่านครูหลวงประดิษฐ์ ฯ
อุปสมบทที่วัดจงกลณี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ต่อจากนั้นได้กลับไปทำมาค้าขายอยู่ที่บ้านเกิดระยะหนึ่ง จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้เข้ามารับราชการ ณ กองการสังคีต กรมศิลปกร รับเงินเดือนขั้น ๓๐ บาท ตำแหน่งศิลปินจัตวา จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ จึงเลื่อนเป็นศิลปินตรี สังกัดโรงเรียนนาฏศิลป กรมศิลปากร เป็นศิลปินเอก พ.ศ. ๒๕๑๖ และท้ายที่สุดก่อนเกษียณอายุราชการเป็นอาจารย์ ๓ ระดับ ๗ กองศิลปศึกษา
ชีวิตครอบครัว มีภรรยาชื่อ ทองเดิม มีบุตรชายคนเดียว ชื่อ ธงชัย เป็นอาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป จังหวัดเชียงใหม่ มีความสามารถเล่นดนตรีไทยได้
ผลงานด้านฝีมือได้รับการยกย่องว่า เป็นนักระนาดฝีมือดีมากที่ท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ทั้งรักทั้งชื่นชมยินดี มีความรู้ดีมาก ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ ได้เคยเขียนตำราไว้เล่มหนึ่ง ยังใช้ประกอบการเรียนดนตรี ในชั้นมัธยมศึกษามาจนถึงทุกวันนี้
ในด้านการสอนดนตรี เคยเป็นครูสอนดนตรีไทยในโรงเรียนบางบัวทองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ นับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๕๒๕ ได้สอนประจำอยู่ในวิทยาลัยนาฎศิลป กรมศิลปากร แต่งเพลงไว้หลายเพลง อาทิ เพลงม่านรามัญ เพลงพม่ากลองยาว เพลงพม่านิมิต เพลงเทวาประสิทธิ์เถา และเพลงเกร็ดต่าง ๆ อีกมาก เคยเดี่ยวระนาดเอกสองรางถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ แสดงฝีมือเดี่ยวระนาด ที่โรงละครนานาชาติในกรุงโตเกียวและแสดงฝีมือในหลาย ๆ ประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เยอรมันและประเทศพม่า เป็นผู้สามารถบรรเลงปี่พาทย์พม่าได้ และนำปี่พาทย์พม่ามาเผยแพร่ในเมืองไทย รวมทั้งได้รับเชิญจากรัฐบาลพม่าให้ไปบรรเลงเพลงที่ย่างกุ้งและมันฑะเลย์
งานชิ้นเอกคือ การก่อกำเนิดวงมโหรีพิเศษเริ่มครั้งแรกใช้นักดนตรี ๒๐๐ คน บรรเลง ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การดนตรีของไทยที่ได้จัดวงมโหรีใหญ่ที่สุด ต่อมาได้บรรเลงอีกครั้งในงานเฉลิมพระอิสสริยยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และเพิ่มจำนวนผู้บรรเลงจากสถาบันต่าง ๆ รวมกันกว่า ๔๐๐ คน ในงานครบรอบ ๑๐๐ ปี หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นวงดนตรีไทยขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นข้าราชการบำนาญกำลังเขียนตำราดุริยางคศาสาตร์ และประกอบอาชีพจำหน่ายเครื่องดนตรีไทย ณ บ้านเลขที่ ๖๙/๑๖๕ ตรอกไผ่ ถนนจรัญสนิทวงศ์ กรุงเทพมหานคร และในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ ท่านได้รับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ประจำปี ๒๔๓๑ นับเป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างยิ่งผู้หนึ่ง ครูประสิทธิ์ ถาวร ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๕ สิริรวมอายุได้ ๘๑ ปี
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก คำสัมภาษณ์ของ ครูประสิทธิ์ ถาวร)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.