พันตรีหลวงประสานดุริยางค์ (สุทธิ์ ศรีชยา) (ไม่ทราบปีที่เกิด และปี่ที่ถึงแก่กรรม)

พันตรีหลวงประสานดุริยางค์ (สุทธิ์ ศรีชยา) (ไม่ทราบปีที่เกิด และปี่ที่ถึงแก่กรรม)

พันตรีหลวงประสานดุริยางค์ (สุทธิ์ ศรีชยา)

(ไม่ทราบปีที่เกิด และปี่ที่ถึงแก่กรรม)

 

พันตรีหลวงประสานดุริยางค์ นามเดิมว่า สุด หรือ สุทธิ นามสกุลทูนกระหม่อมบริพัตรประทานให้ว่า “ศรีชยา” เข้าใจว่าเกิดในเขตมณฑลนครไชยศรี ประมาณต้นแผ่นดิน รัชกาลที่ ๕ (ราว พ.ศ. ๒๔๓๐) เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๘-๒๔๕๐ ได้มาทำน้าที่เป็นทหารเป่าแตรอยู่ในกองทัพเรือ และได้เป็นศิษย์ของท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล และประจำอยู่ในวงโยธวาทิต กองทัพเรือสมัยที่ ทูนกระหม่อมบริพัตรทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เนื่องจากเป็นคนเป่าแตรคอริเนทเก่งมาก จึงทรงเรียกใช้ใกล้ชิดพระองค์ และทรงสอนให้เรียนรู้โน้ตสากลจนถึงเขียนโน้ตเพลงและแยกเสียงประสานได้ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ทูนกระหม่อมบริพัตรเสด็จไปคุมงานการก่อสร้างพระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี นายสุดได้ตามเสด็จไปด้วย และทูนกระหม่อมได้ทรงบอกทางเพลงแขกมอญบางขุนพรหมสำหรับบรรเลงด้วยแตรวง ประทานให้นายสุดจดบันทึกไว้เป็นคนแรก แล้วนำกลับมาต่อให้ที่กองดุริยางค์กองทัพเรือ 

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ ทูนกระหม่อมบริพัตรทรงย้ายมาประจำเป็นเสนาธิการกองทัพบก นายสุดได้ย้ายมาเป็นทหารบกและสังกัดอยู่ในกองดุริยางค์มหาดเล็กรักษาพระองค์จนมียศเป็นพันตรีขุนประสานดุริยางค์ และเป็นหลวงประสานดุริยางค์ ตามลำดับ นอกจากจะเคยต่อเพลงกับจางวางทั่ว และทูนกระหม่อมบริพัตรแล้ว ยังเคยเป็นศิษย์ของ พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ด้วย  

พันตรีหลวงประสานดุริยางค์ มีพี่สาวคนหนึ่งชื่อ นุ่น (ซึ่งเป็นมารดาของ ร.อ.นพ ศรีเพชรดี จึงได้สอนดนตรีให้แก่ครูนพ มาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม) ความสามารถของหลวงประสานดุริยางค์นั้น ขึ้นชื่อมาก จนทูนกระหม่อมบริพัตรประทานแตรหนึ่งคันทำด้วยโลหะเงินล้วนเป็นของขวัญและยังได้ทรงทำทางเดี่ยวปี่ เพลงสารถี ประทานให้เป็นพิเศษอีกด้วย 

หลวงประสานดุริยางค์ ได้รับการยกย่องเป็นครูผู้ใหญ่ของบ้านพาทยโกศล หลังจากที่จางวางทั่วถึงแก่กรรมแล้วในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ท่านได้มาปฏิบัติหน้าที่เป็นครูผู้อ่านโองการในพิธีไหว้ครูของบ้านพาทยโกศล ต่อมาอีกหลายปี จนถึงแก่กรรม  

รายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับประวัติครอบครัวยังค้นไม่ได้

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของ ร.อ. นพ ศรีเพชรดี)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.