พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)
(พ.ศ. ๒๔๐๓-๒๔๖๗)
พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เป็นบุตรคนโตของขุนกนกเลขา (ทองดี) กับนางนิ่ม เกิดเมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๓ ตรงกับวันอังคาร แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอก ที่บ้านเลขที่ ๘๑ ตรอกไข่ ถนนบำรุงเมือง ตำบลหลังวัดเทพธิดา กรุงเทพ ฯ
การศึกษาวิชาสามัญนั้น มิได้เข้าเรียนที่โรงเรียนใด แต่เรียนที่บ้านตนเองจนอายุได้ ๑๘ ปี สำหรับวิชาดนตรีไทย ได้เรียนปี่ชวากับ ครูชื่อ “หนูดำ” ซึ่งภายหลังได้เลิกเป็นครู ไปถือศีลอยู่ในถ้ำภูเขาทอง ส่วนวิชาดนตรีปี่พาทย์อื่น ๆ รวมทั้งปี่ใน ปี่นอก นั้น ได้ศึกษาอย่างจริงจังกับ ครูช้อย สุนทรวาทิน (บิดาของพระยาเสนาะดุริยางค์) จนบรรลุความแตกฉานเป็นเอตทัคคะทางดุริยางคศิลป์อย่างเยี่ยมยอดต่อมา
หน้าที่การงานของท่านเริ่มด้วยการเข้ารับราชการครั้งแรกในกระทรวงนครบาล เป็นหมื่นทรงนรินทร์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๗ ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๑๖ บาท แต่อยู่ได้ไม่นาน ก็ลาออก ครั้นต่อมาภายหลัง เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๕ มีพระประสงค์ให้นักดนตรีของวัดน้อยทองอยู่ซึ่งมีครูช้อย สุนทรวาทิน เป็นครู มีนายแปลก (พระยาประสานดุริยศัพท์) กับนายแช่ม (พระยาเสนาะดุริยางค์) เป็นศิษย์เอก เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กเรือนนอก ท่านจึงกลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง ล่วงมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระยศเป็นพระยุพราช ได้ทูลขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ จาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้นายแปลกเป็นที่ “ขุนประสานดุริยศัพท์” นับจากนั้นก็ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์มาเป็นลำดับ จนได้เป็น “พระยาประสานดุริศัพท์” เจ้ากรมปี่พาทย์หลวง ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๘ เรื่อยมาจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
ความรู้ความสามารถทางดนตรีไทยของพระยาประสาน ฯ นั้น นับได้ว่าเป็นเอกแห่งบรมครูของการสยามสังคีตได้ผู้หนึ่ง ครูจิตร เพิ่มกุศล นักดนตรีอาวุโสในปัจจุบันซึ่งเคยรับราชการอยู่ในวงปี่พาทย์ ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในรัชกาลที่ ๕ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “วงสมเด็จพระบรม ฯ” ซึ่งมีพระยาประสาน ฯ เป็นผู้ควบคุมวง เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “ท่านถึงทุกเครื่อง” ที่ว่าถึงนั้น คือ ถึงพร้อมทั้งฝีมือ ความรู้ ปฏิภาณ ไหวพริบ ความเป็นครู และความเป็นศิลปิน อันหาได้ยากยิ่งในผู้อื่น เมื่อครั้งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ทรงจัดหาผู้เชี่ยวชาญการดนตรีไปร่วมแสดงงานมหกรรมฉลองครบร้อยปีของพิพิธภัณฑ์เมืองวิมปลี่ย์ ที่ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๘ นั้น ท่านก็ได้รับเลือกไปด้วยในฐานะเอตทัคคะทางปี่และขลุ่ย ผลการบรรเลงเดี่ยวของพระยาประสาน ฯ เป็นที่พอพระราชหฤทัยของสมเด็จพระราชินีเจ้าวิคตอเรีย เป็นที่ยิ่ง ถึงกับทรงรับสั่งขอฟังการเป่าขลุ่ยเป็นการส่วนพระองค์อีกครั้งในพระราชวังบัคกิ้งแฮม การบรรเลงครั้งหลังนี้ สมเด็จพระราชินีเจ้าวิคตอเรีย ทรงลุกจากที่ประทับและใช้พระหัตถ์ลูบคอพระยาประสาน ฯ พร้อมทั้งมีรับสั่งถามว่าเวลาเป่านั้นหายใจบ้างหรือไม่ เพราะเสียงขลุ่ยดังกังวานอยู่ตลอดเวลาไม่หยุดหายแม้ชั่วขณะ เป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนับเป็นเกียรติประวัติอย่างสูงแก่การดุริยางค์ไทย อันที่จริงมืใช่แต่ต่างเมืองจะยกย่องความสามารถของท่านแต่ฝ่ายเดียวก็หาไม่ ครูมีแขก (พระประดิษฐ์ไพเราะ) บรมครูทางดุริยางคศิลป์ ก็ยังปรารภว่า “นายแปลก เป่าปี่ดีนัก ทำอย่างไรจึงจะได้ฟัง” ครั้นความทราบถึงพระยาประสาน ฯ ท่านก็รีบนำปี่ไปกราบและเดี่ยวเพลงทยอยเดี่ยวให้ครูมีแขกฟัง เมื่อจบเพลง ครูมีแขก ชมว่า “เก่งไม่มีใครสู้”
ครั้งหนึ่งมีการซ้อมดนตรีของวงวังบูรพาภิรมย์ พระยาประสาน ฯ ไปร่วมตีกลองอยู่ด้วยเสียงกลองนั้น ทำให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ท่านเจ้าของวังรับสั่งถามว่าใครตีกลอง เมื่อทรงทราบว่าเป็นพระยาประสาน ฯ ถึงกับทรงอุทานว่า “ไม่ใช่คนนี่ ไอ้นี่มันเทวดา” ทั้งนี้เพราะเสียงกลองที่ท่านตีนั้นไพเราะจับใจถูกอารมณ์ ถูกจังหวะของดนตรียิ่งนัก
อันที่จริง พระยาประสาน ฯ ไม่ชอบการแต่งเพลงขึ้นใหม่เท่าใดนัก ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “เพลงของเก่าเพราะ ๆ ยังมีอีกมาก” แต่ในสมัยนั้นมักมีการประชันวงปี่พาทย์ ระหว่างวังระหว่างบ้านอยู่เป็นนิจ พระยาประสาน ฯ เองก็อยู่ในฐานะเป็นครูของวงหลวง จะอยู่เฉยไม่คิดประดิษฐ์เพลงให้ลูกศิษย์ ในขณะที่ครูของวงอื่นทำกันอยู่เป็นวิสัยกระไรได้ งานคีตนิพนธ์ของท่านเท่าที่รวบรวมได้มีดังต่อไปนี้ เชิดจีน ๓ ชั้น พม่าห้าท่อน เขมรราชบุรี ลาวคำหอม ลาวดำเนินทราย เขมรทรงพระดำเนิน (เขมรกล่อมพระบรรทม) เขมรปากท่อ เขมรใหญ่ ดอกไม้ไทร ถอนสมอ ทองย่อน เทพรัญจวน นารายณ์แปลงรูป แมลงภู่ทอง สามไม้ใน อาถรรพ์ คุณลุงคุณป้า พราหมณ์เข้าโบสถ์ ธรณีร้องไห้ มอญร้องไห้ แขกเห่ อนงค์สุชาดา วิเวกเวหา แขกเชิญเจ้า ย่องหงิด ๓ ชั้น เป็นต้น
เป็นการเหลือวิสัยที่จะบรรยายความสามารถทางดนตรี ของคีตกวีเอกแห่งสยาม ท่านนี้ได้บริบูรณ์ ทว่ามีหลักการปรนัยอยู่อย่างหนึ่งว่าจะดูครูให้ดูศิษย์ ถ้าศิษย์ดีมีฝีมือ ครูก็จะยิ่งไปกว่าเป็นทวีคูณ ฉะนั้น เมื่อพิจารณาศิษย์ของพระยาประสาน ฯ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือ พระประดับดุริยกิจ (แหยม วีณิน) พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต) หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) หลวงบรรเลงเลิศเลอ (กร กรวาทิน) พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) อาจารย์มนตรี ตราโมท ครูเฉลิม บัวทั่ง เหล่านี้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า พระยาประสาน ฯ อยู่ในขั้น “เทวดา” สมพระดำรัสของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช เพียงไร
ในด้านชีวิตครอบครัว ท่านสมรสกับนางสาวพยอม ชาวจังหวัดราชบุรี มีบุตรธิดาทั้งสิ้น ๑๑ คน ถึงแก่กรรมแต่ยังเล็กเสีย ๖ คน เหลืออยู่เรียงลำดับได้ดังนี้ ๑. หญิง ชื่อ มณี ประสานศัพท์ (มณี สมบัติ) ๒. หญิง ชื่อ เสงี่ยม ประสานศัพท์ (นางตรวจนภา พวงดอกไม้) ๓. หญิง ชื่อ ประยูร ประสานศัพท์ ๔. ชาย ชื่อ ปลั่ง ประสานศัพท์ (ขุนบรรจงทุ้มเลิศ) ๕. หญิง ชื่อ ทองอยู่ ประสานศัพท์ (นางอินทรรัตนากร อินทรรัตน์)
พระยาประสานดุริยศัพท์ ล้มป่วยด้วยโรคชราและถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ (แต่ในทะเบียนประวัติข้าราชการสำนักพระราชวังลงไว้ว่า วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๗) สิริอายุได้ ๖๕ ปี
พิชิต ชัยเสรี
(เรียบเรียงจาก
๑. สมุดทะเบียนประวัติข้าราชการ กรมมหรสพ แผนกกรมพิณพาทย์หลวง สำนักพระราชวัง
๒. ประวัติผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลป ของกรมศิลปากร
๓. บทความเรื่องพระยาประสานดุริยศัพท์ ของพระยาภูมิเสวิน
๔. บทความเรื่อง เมื่อประเทศสยามส่งคณะดนตรีปี่พาทย์ไปแสดงที่ประเทศอังกฤษ ในรัชสมัยพระนางวิคตอเรีย ของวิเชียร กุลตัณฑ์)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.