คงศักดิ์ คำศิริ
(พ.ศ.๒๔๔๒-๒๕๑๐)
ครูคงศักดิ์ เดิมชื่อ ทองสุข เป็นบุตรนายท้วม นางวัน คำศิริ เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๒ เมื่อวัยเยาว์ได้เข้าศึกษาเล่าเรียนวิชาสามัญ ในโรงเรียนวัดอนงคาราม จนจบชั้น ๓ (อย่างเก่า)
การศึกษาวิชาดนตรีเริ่มเรียนกับครูสินธุ์เป็นคนแรก โดยไปพักกินอยู่ที่บ้านครูในคลองบางกอกน้อย เครื่องดนตรีที่เริ่มเรียน คือ ซอด้วง เพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันของครูคงศักดิ์ ขณะศึกษาอยู่ในบ้านครูสินธุ์ตลอด ๓ ปีนั้น คือ นายเงิน ผลารักษ์ ซึ่งต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์รับราชการเป็นนักดนตรีในกรมปี่พาทย์หลวงสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นหลวงชาญเชิงระนาด จึงนับได้ว่า ครูคงศักดิ์มีครูดี ได้ศึกษาวิชาดนตรีพื้นฐานมาเป็นอันดี ต่อมาครูคงศักดิ์ได้สมัครเข้ารับราชการเป็นทหารรักษาวัง กองแตร กระทรวงวัง ในบังคับบัญชาของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ซึ่งมีวงปี่พาทย์ประจำอยู่ที่บ้านเชิงสะพานกษัตริย์ศึก อันเป็นบ้านพักของท่าน ด้วยความพึงพอใจในฝีมือซอของครูคงศักดิ์เจ้าพระยาธรรมาฯ จึงได้ขอตัวมาประจำอยู่ในวงดนตรีของท่าน เป็นเหตุให้ครูได้มีโอกาสศึกษาวิชาดนตรีชั้นสูงต่อมากับพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ซึ่งเคยเป็นครูดนตรีประจำบ้านและนับเป็นครูคนสุดท้ายที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาดนตรีให้แก่ครูคงศักดิ์จนเจนจบ
หน้าที่การงานของครูคงศักดิ์ เริ่มต้นเมื่อสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาธรรมาฯ เลิกล้มวงดนตรี ครูคงศักดิ์จึงลาออกจากบ้านเจ้าพระยาธรรมาฯ แล้วสมัครเข้ารับราชการด้านวิทยุกระจายเสียง ในกรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงคมนาคม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างเครื่องสถานีใหม่ที่ศาลาแดงมีเพื่อนร่วมงานซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ในสมัยสงครามอินโดจีน จนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เช่น จมื่นมานิตย์นเรศร์ ร.ท.เขียน ธีมากร พระราชธรรมนิเทศน์ นางสังข์ พัฒโนทัย (นายมั่น ชูชาติ) เป็นต้น ต่อมาย้ายมาอยู่สถานีวิทยุพญาไท โดยเหตุที่มีความรู้ทางช่างเครื่องส่งวิทยุและเทคนิคการดนตรีในห้องส่งกระจายเสียงเป็นอย่างดี จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายสถานีในสมัยนั้น ครั้งสุดท้ายได้ย้ายมารับราชการในกรมประชาสัมพันธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ จนได้รับตำแหน่ง หัวหน้าแผนกบันเทิงกองการกระจายเสียงในประเทศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ เกษียณอายุราชการเมื่อ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๔ รวมเวลารับราชการทั้งสิ้น ๓๒ ปี ตำแหน่งหลังสุดเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโท
ในด้านความรู้ความสามารถทางดนตรี ครูคงศักดิ์สามารถปฏิบัติได้ทั้งทางปี่พาทย์และทางเครื่องสายรวมทั้งการขับร้อง แต่ที่ถนัดเป็นพิเศษคือ เครื่องดนตรีประเภทสี ได้แก่ ซอต่าง ๆ รวมไปถึงซอฝรั่งเช่นไวโอลินด้วย ในครั้งที่ครูคงศักดิ์ต้องติดตามเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดีซึ่งตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เช่นที่ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม หรือที่มฤคทายวัน บางประอิน นั้น ก็ได้เคยสนองพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยการสีไวโอลินถวายในขณะเสวยพระกระยาหาร ได้รับพระราชทานรางวัลหลายครั้ง ย่อมแสดงให้เห็นถึงฝีไม้ลายมือทางดนตรีของครูคงศักดิ์เป็นอย่างดี ในสมัยที่พลโท ม.ล.ขาบมงคล กุญชร เป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ก็ได้อาศัยความรู้ความสามารถทางดนตรีของครูคงศักดิ์ ร่วมมือปรับปรุงจนวงดนตรีไทยของกรมประชาสัมพันธ์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมาก
คุณประกวด สมบัติทวี เลขานุการกรมประชาสัมพันธ์ในสมัยนั้น เขียนเล่าไว้ว่า ครูคงศักดิ์ สีซออู้แอ่วเคล้าซอได้ดีเป็นพิเศษจน นายเพ็ญ ปัญญาพล นักแอ่วเคล้าซอผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งปรารภว่า “การแสดงแอ่วเคล้าซอทางวิทยุ ถ้าไม่ได้คุณคงศักดิ์สีซออู้ละก็ เป็นไม่ยอมเด็ดขาดเพราะกลัวเสียชื่อ”
ครูคงศักดิ์เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้มีพระคุณและถือความซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่การงานเป็นที่ยิ่ง ด้วยคุณธรรมทั้งหลายนี้ จึงช่วยพาครูคงศักดิ์ให้รอดพ้นจากภัยแห่งความผันผวนทางการเมืองในสมัยหนึ่ง ซึ่งครูคงศักดิ์รับหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลไทย โดยชื่อว่า นายคง รักไทย คู่กับ นายมั่น ชูชาติ (นามจริงคือ นายสังข์ พัฒโนทัย) หรือที่เรียกกันติดปากในสมัยนั้นว่า นายมั่น นายคง ตั้งแต่สมัยสงครามอินโดจีนจนเสร็จสิ้นสงครามโลก ครั้งที่ 2
ชีวิตของครูคงศักดิ์ผูกพันธ์รักใคร่อยู่ในดนตรีเป็นยิ่งนัก แม้ขณะเมื่อนอนป่วยจนเกือบจะถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต นิ้วมือก็ยังขยับประพรมประหนึ่งกำลังสีซอ ปากก็ขมุบขมิบท่องเพลงเสมือนหนึ่งดนตรีเป็นโอสถ ครูคงศักดิ์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๐ ที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยโรคหืดเรื้อรัง
ครูคงศักดิ์สมรสกับนางสาวชิ้น ทิมวงศ์ มีบุตรธิดาทั้งสิ้น ๑๑ คน ดังนี้
๑.หญิง ชูศรี
๒.หญิง เป้า (ถึงแก่กรรม)
๓.หญิง แป๊ะ (ถึงแก่กรรม)
๔.หญิงฉวีวรรณ
๕.ชาย ศักดา
๖.หญิง สมพิศ
๗.หญิง สุภาพ
๘.หญิง จิตรา
๙.ชาย สมศักดิ์
๑๐.ชาย วิชัย
๑๑.หญิง นพพร
พิชิต ชัยเสรี
(เรียบเรียงจาก หนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายคงศักดิ์ คำศิริ วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ และคำบอกเล่าของนายศักดา คำศิริ)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.