บุญยงค์ เกตุคง (พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๕๓๙)
ครูบุญยงค์ เป็นบุตรชายคนโตของ นายเที่ยง และนางเขียน เกตุคง เกิดเมื่อวันอังคาร เดือน ๔ ปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓ ที่ตำบลวัดสิงห์ เป็นหลานปู่หลานย่าของนายใจนางเพียร ชาวสวน ตำบลดาวคนอง เป็นหลานตาหลานยายของ นายเปี่ยมและนางภู่ ศรีประเสริฐ ตากับยายและแม่เป็นคนอัมพวา จังหวัดสมุทรสาคร มีน้องชาย ๒ คน ชื่อบุญยัง และทองอยู่ มีน้องสาว ๑ คน ชื่อเบญจางค์ น้องชายชื่อบุญยัง เป็นนักดนตรีฝีมือดี
เริ่มเรียนหนังสือที่บ้านตาและยาย จังหวัดสมุทรสาคร อายุได้ ๘ ขวบ เริ่มเรียนดนตรีกับครูละม้าย หรือทองหล่อ ที่บ้านข้างวัดหัวแหลม พอตีฆ้องทำเพลงโหมโรงเช้า โหมโรงเย็นได้ก็เลิกเรียนขณะนั้นอายุได้ ๑๐ ปี ในระยะนั้น บิดา ของครูบุญยงค์ เป็นนายโรงลิเก ให้ชื่อในการแสดงว่า ”พยอม” มีชื่อเสียงว่าแสดงดีทุกบทตั้งแต่บทพระเอก จนถึงตัวตลก แสดงอยู่กับคุณ “หมื่นสุขสำเริงสรวล” ประจำอยู่ที่วิกบางลำพู กรุงเทพฯ บิดามีภรรยาอีกคนหนึ่ง เป็นคนจีนชื่อ “กวย” มีบ้านอยู่ที่ถนนสิบสามห้าง บางลำพู ในวัยหนุ่มครูได้อยู่กับมารดาเลี้ยงคนนี้ ซึ่งรักและเมตตาครูมาก
อายุได้ราว ๑๑ ปี ได้ไปเรียนดนตรีต่อกับครูหรั่ง พุ่มทองสุก ที่บ้านปากน้ำ ภาษีเจริญ พร้อม ๆ กับ ครูสมาน ทองสุโชติ และครูบุญยัง ผู้น้องชาย ได้ต่อเพลงต่าง ๆ จนถึงเดี่ยวฆ้องเล็กได้ เรียนอยู่กับครูหรั่งประมาณ ๒ ปี ก็ย้ายไปเรียนกับอาจารย์เทิ้ม พระวัดช่องลม จังหวัดสมุทรสาคร จนอายุได้ ๑๖ ปี จึงไปช่วยบิดาตีระนาดอยู่กับคณะลิเกได้ต่อเพลงจาก ครูประสิทธิ์ เกตุคง ผู้เป็นอา อีกหลายเพลง ประเภทเพลง ๒ ชั้น ที่ลิเกชอบร้องอยู่เสมอ ๆ และได้เป็นศิษย์ของครูเพชร จรรย์นาฏ ครูดนตรีที่มีชื่อเสียงแห่งจังหวัดอยุธยา (ศิษย์หลวงประดิษฐไพเราะ) จนถึงออกวงร่วมกับครูเพชร ประชันวงตามงานต่าง ๆ ทั้งยังได้ใกล้ชิดกับครูชื้น ครูชั้น ดุริยประณีต ซึ่งมาตีระนาดให้กับวงลิเกของบิดา จึงได้เป็นศิษย์ของบ้านดุริยประณีต ได้ต่อเพลงกับครูสอน วงฆ้อง และเล่นดนตรีมากับครูสืบสุด (ไก่) ดุริยประณีต จนมีความสามารถทำเพลงสำหรับเดี่ยวระนาดได้ ต่อมาได้น้องสาวของครูชื้น ดุริยประณีต คนหนึ่งเป็นภรรยา แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน
พ.ศ. ๒๔๘๕ น้ำท่วมกรุงเทพมหานครครั้งใหญ่ทำให้การเล่นลิเกซบเซาลงมาก ครูจึงหันมายึดอาชีพแจวเรือจ้างจนหมดฤดูน้ำท่วม แล้วไปอยู่เรียนดนตรีกับครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล เป็นเวลาอีกปีเศษ
ความสามารถในทางดนตรีของครูบุญยงค์นั้นมีมาก สามารถบรรเลงปี่พาทย์ได้ทุกประเภท ทั้งประกอบการแสดงโขน ละคร ลิเก จนถึงการประชันวงปี่พาทย์ เคยร่วมวงดนตรีกับ คณะทองใบ รุ่งเรือง คณะดุริยประณีต คณะพาทยโกศล คณะครูเพชร จรรย์นาฏ เป็นต้น ครูบุญยงค์ แต่งเพลงครั้งแรก ตั้งแต่เมื่อมีอายุได้ ๑๘ ปี แล้วได้นำไปบรรเลงในงานไหว้ครูครั้งหนึ่งที่บ้านหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้รับคำชมเชยว่า ทางบรรเลงดี จึงมีกำลังใจ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ อายุได้ ๒๖ ปี จึงร่วมมือกับครูบุญยัง น้องชาย หัดลิเก แสดงลิเกเป็นล่ำเป็นสัน จนถึงได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดลิเก ทางวิทยุกระจายเสียง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับถ้วยทองคำหนัก ๕ บาท และเงินรางวัล หนึ่งหมื่นบาท โดยมี พร ภิรมย์ และครูบุญยัง เกตุคง ร่วมแสดงด้วย ใช้ชื่อคณะว่า “เกตุคงดำรงศิลป์”
เมื่อ พลโท ม.ล.ขาบ กุญชร เป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ครูบุญยงค์ ได้เข้ารับราชการเป็นนักดนตรี พร้อมๆ กับครูสมาน ทองสุโชติ ครูประสงค์ พิณพาทย์ ครูระตี วิเศษสุรการ ครูฉลวย จิยะจันทน์ ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ จึงมีโอกาสได้เป็นศิษย์ของครูพุ่ม บาปุยะวาส ได้ร่วมงานแต่งเพลงกับครูพุ่มหลายเพลง รับการการอยู่ ณ กรมประชาสัมพันธ์ได้ประมาณ ๕-๖ ปี ก็ลาออกไปเป็นนักดนตรีประจำอยู่ไทยทีวีสีช่อง ๔ บางขุนพรหม ซึ่งเพิ่งเปิดดำเนินกิจการใหม่ อยู่ได้ประมาณ ๕ ปี ก็ลาออกมาเป็นนักดนตรีประจำวงดนตรีไทยของ สำนักงานกรุงเทพมหานคร จนเกษียณอายุเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕
ผลงานทางด้านการแต่งเพลงของครูมีมากหลายเพลง อาทิ โหมโรงสามสถาบัน โหมโรงจุฬามณี โหมโรงสามจีน เพลงเงี้ยวรำลึกเถา เริงพลเถา ศรีธรรมราชเถา ชเวดากองเถา พิรุณสร่างฟ้าเถา เพชรน้อยเถา(ร่วมกับครูพุ่ม) สยามานุสติเถา เดือนหงายกลางป่าเถา น้ำลอดใต้ทรายเถา เกษรสำอางค์เถา ศรีอโศกเถา เป็นต้น และยังมีทางเดี่ยวสำหรับเพลงต่างๆ และเครื่องมือต่างๆ อีกเป็นอันมาก ผลงานของครูบุญยงค์มีความผูกพันอยู่กับ ครูพุ่ม บาปุยะวาส และครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ หลายเพลง ผลงานการแต่งเพลงและการเรียบเรียงเพลงของครูบุญยงค์ ในระยะหลังนี้ มีชื่อเสียงแพร่หลายไปยังต่างประเทศคือ ไปร่วมงานกับ นายบรู๊ซ แกสตัน นักดนตรีเอกชาวเยอรมันจัดทำเพลงชุด เจ้าพระยาคอนแชร์โต้บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีไทยผสมกับเครื่องดนตรีฝรั่งเป็นที่นิยมชมชอบกันโดยทั่วไป ซึ่งผลงานนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า ครูบุญยงค์ เกตุคง เป็นอัจฉริยบุคคลทางด้านดนตรีของไทยอีกผู้หนึ่ง ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ ครูได้เข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติในฐานะเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีไทย) ประจำปี ๒๕๓๑ นับเป็นเกียรติประวัติสูงส่งในชีวิตของครู
ครูบญยงค์ เกตุคง ได้รับยกย่องสรรเสริญว่าเป็นระนาดเทวดา เพราะมีฝีมือบรรเลงระนาดเอกได้ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยเดียวกัน และยังได้รับคำยกย่องอีกว่าเสียงระนาดของท่านเปรียบได้กับเสียงของไข่มุกร่วงบนจานหยก ครูบุญยงค์ เกตุคง ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ สิริรวมอายุ ๗๖ ปี
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของ ครูบุญยงค์ เกตุคง)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.